จากกรณี สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ได้ดูแล เสือบะลาโกล ซึ่งเป็นลูกเสือโคร่ง ที่ออกมาจากป่าคลองลาน โดยมาเดินอยู่ในหมู่บ้าน ตั้งแต่เดือน ก.พ. 67 และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ช่วยกันจับได้ พบสภาพผอมโซ ดวงตาอักเสบ ก่อนไปพักฟื้นอยู่ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และรักษาด้วยการควักตาข้างซ้ายออก กระทั่งร่างกายบะลาโกลแข็งแรง จึงได้มีการนำมาปล่อยคืนสู่พื้นที่ป่า โดยมีการเลือกสถานที่ให้เหมาะสม คือพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยปล่อยในเวลา 03.00 น. วันที่ 6 มิ.ย. 67 ที่ผ่านมานั้น

อุ่นใจได้! ‘บะลาโกล’ เสือโคร่งผอมโซเดินเซกลางหมู่บ้าน อยู่ในความดูแลเจ้าหน้าที่แล้ว

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ได้เผยเรื่องราวสัญญาณที่ดีของการใช้ชีวิตตามธรรมชาติของ เสือบะลาโกล ที่ถูกนำมาปล่อยคืนสู่ป่า โดยระบุข้อความว่า ยืนยันเมื่อครั้งกระโน้น (19 มิ.ย. 67) ทีมติดตามบะลาโกล รายงานการพบกระจุกเส้นขนของสัตว์และมีร่องรอยของการล่าเหยื่อได้ ซึ่งผู้มีประสบการณ์ระบุเบื้องต้นว่าเป็น “หมูหริ่ง” ที่ตกเป็นอาหารของบะลาโกล

ได้มีการนำเส้นขนที่พบในที่เกิดเหตุไปให้กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า ทำการตรวจพิสูจน์ยืนยันในห้องปฏิบัติการ โดยใช้ลักษณะโครงสร้างแกนขน (medulla) ท้ายที่สุด ห้องปฏิบัติการยืนยันมาแล้วว่า บะลาโกลกินหมูหริ่ง ไม่ผิดโผ

ส่วนสถานการณ์ชีวิตบะลาโกลล่าสุด แอดว่ามันน่าจะมีเชื้อสาย นินจาโคงะ เพราะมันใช้ชีวิตราวกับ วาร์ปได้ ไปมาไร้ร่องรอย ขณะทีมติดตามก็พยายามตามติดอยู่ แต่เป็นได้แค่ นินจาเต่า

ทั้งนี้ จากการยืนยันผลการพิสูจน์ซากครั้งนี้ ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีของคณะนักวิจัย เนื่องจากเสือบะลาโกล ถือเป็นการเคลื่อนย้ายเสือโคร่งจากป่าตะวันตกสู่ป่าฝั่งตะวันออก เป็นการดำเนินการที่เกิดขึ้นครั้งแรกของประเทศไทย และเริ่มปรับตัวในธรรมชาติและออกล่าเหยื่อด้วยตัวเองได้แล้ว โดยหลังจากปล่อยเสือบะลาโกลกลับสู่ป่า คณะนักวิจัยเสือโคร่ง ก็ได้เฝ้าติดตามจากพิกัดจากจีพีเอสที่ติดตั้งไว้กับเสือบะลาโกล พร้อมกับชิ้นเหยื่อพกไปให้ในช่วงการปรับตัวของเสือที่ได้กลับคืนสู่ป่า กระทั่งเวลาผ่านไปราว 2 สัปดาห์ในการปล่อย ก็พบว่า เสือบะลาโกล น่าจะมีการล่าเหยื่อเองได้แล้ว

ในครั้งนั้นยังระบุไม่ได้ว่าตัวอะไรกันแน่ แต่ผู้ที่เคยมีประสบการณ์ด้านวิเคราะห์เส้นขนจากมูลเสือโคร่งก็ระบุในเบื้องต้นว่า “ขนหมูหริ่ง” หลังจากนี้จะได้ส่งเส้นขนไปวิเคราะห์ละเอียดในห้องปฏิบัติการ ส่วนบริเวณที่พบกระจุกขนนั้นเมื่อนำพิกัดมาตรวจสอบก็พบว่าห่างจากตำแหน่งของดาวเทียมเพียง 10 เมตรเท่านั้น จึงมั่นใจได้ว่า เป็นฝีมือบะลาโกลแน่นอน

ซึ่ง “หมูหริ่ง” เป็นหนึ่งในหลายชนิดของสัตว์ที่เสือโคร่งฝั่งป่าตะวันตกล่าเป็นอาหาร และเป็นชนิดเหยื่อยอดนิยม ที่แม่เสือเลือกใช้เป็นเหยื่อฝึกประสบการณ์ให้กับลูกเสือ ดังนั้นการล่าหมูหริ่งได้เป็นมื้อแรกของการดำรงชีวิตในป่าอีกครั้งนั้น จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ฉลาดและดี ที่การันตีความไม่บาดเจ็บ หรือพลั้งพลาดจากการล่าเหยื่อ ซึ่งจากนี้ไปคาดว่าความมั่นใจในการล่าของบะลาโกลจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนสั่งสมเป็นประสบการณ์ที่ช่วยให้ไม่พลาดในการล่าเหยื่อที่มีขนาดใหญ่ขึ้น.

ขอบคุณข้อมูลและภาพ จากเพจ สถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และ Thailand Tiger Project DNP