ความคืบหน้าปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ล่าสุดกระจายไปถึงจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้นั้น เมื่อวันที่ 1 ก.ค. นายปัญญา โตกทอง อายุ 66 ปี เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน และเครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ ตนมองว่าทางกรมประมง ยังไม่ได้ให้ข้อมูลที่ครบถ้วนกับชาวบ้านตั้งแต่แรก รวมไปถึงพยายามเลี่ยงประเด็นให้เข้าใจว่าเป็นประเภทของปลาสวยงาม “ปลาหมอสีคางดำ” ทั้งที่ไม่ใช่ปลาหมอสี แต่เป็นปลาตระกูลเดียวกับ “ปลาหมอเทศ” สายพันธุ์ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ แต่เมื่ออนุญาตให้นำเข้ามาประเทศไทย สุดท้ายไปโผล่ในแหล่งน้ำธรรมชาติก็ทำให้เกิดความไม่สมดุล เพราะปลาหมอคางดำ กัดกินทำลายสัตว์น้ำพื้นถิ่นเป็นอาหาร สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านไปเกือบครึ่งประเทศแล้ว

ดังนั้นภาครัฐควรจะต้องจับมือนายทุนใหญ่ใครที่เป็นต้นเหตุนำปลาหมอคางดำเข้ามาในประเทศไทย ควรตั้งงบประมาณรับซื้อจากชาวบ้าน แนะนำให้รับซื้อ กก.ละ 20 บาทและต้องทำต่อเนื่อง อย่าแก้ปัญหาเป็นช่วงๆ เหมือนจัดอีเวนต์ ส่วนปลาที่ซื้อไปจะไปทำลายหรือทำปลาป่น อาหารสัตว์ ฯลฯ นายทุนใหญ่คงไม่ได้เดือดร้อนมากมายอะไร และถ้าจะต้องใช้เงินมากน้อยแค่ไหนก็ต้องทำ เพราะถือว่าเป็นต้นเหตุนำเข้ามาละเมิดสิทธิชาวบ้าน เชื่อว่าคงใช้เวลาประมาณ 2-3 ปีกับให้มีการวิจัยผลลัพธ์ควบคู่กันไปด้วย

ส่วนที่มีผู้กังวลว่าหากมีการรับซื้อในราคา กก.ละ 20 บาทแล้ว จะจูงใจให้มีคนเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำออกมาขายนั้น ปัจจุบันอาหารปลาราคาสูงมาก ถ้าเอามาเลี้ยงแล้วขายคงไม่คุ้ม และยังมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นอีก

นายปัญญา กล่าวทิ้งท้ายว่า กรณีบางคนบอกว่าปัญหาปลาหมอคางดำ หากหมดหนทางกำจัดแล้วก็ให้ภาครัฐออกมาให้ความรู้ชาวบ้านด้วยว่าจะอยู่ร่วมกันกับปลาหมอคางดำอย่างไรนั้น หากยอมแพ้ หน่วยงานรับผิดชอบและบริษัทต้นเหตุที่นำเข้ามาก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยหรือ ชาวบ้านถูกละเมิดสิทธิเกือบ 20 ปีแล้วยังไม่มีการเยียวยาจริงจัง ทั้งที่เป็นความผิดพลาดร่วมระหว่างรัฐและเอกชน จึงต้องออกมารับผิดชอบร่วมกัน หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ “กรมประมง” ที่อนุญาตให้นำเข้ามากระทั่งเกิดปัญหาดังกล่าว สำหรับอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาคือ ยกระดับการแก้ปัญหาให้เป็น “วาระแห่งชาติ” ทำพร้อมกันทุกพื้นที่การระบาดของปลาหมอคางดำ ก่อนจะลุกลามบานปลายไปทั่วประเทศ จนทำลายระบบนิเวศพันธุ์ปลาท้องถิ่นลดน้อยถึงขั้นสูญพันธุ์

ด้านนายไพโรจน์ ดำหมึก อายุ 57 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม และเป็นผู้แทนภาคประมง จ.สมุทรสงคราม ในคณะทำงานแก้ปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ กล่าวว่า ตนเป็นเกษตรกรอาชีพทำสวนมะพร้าวน้ำหอมมานาน เห็นชัด คือ ก่อนหน้าที่ปลาหมอคางดำจะมาแพร่ระบาด คลองหน้าบ้านและร่องสวน จะมีปลากระบอก กุ้งตัวเล็กๆ ปลานิล ฯลฯ ให้ได้จับกินเป็นอาหารตลอดปี การที่ปลาพื้นถิ่นถูกทำลาย ยังทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศลำคลอง เนื่องจากปลาพื้นถิ่นจะกินพืช เช่น สาหร่ายหางกระรอก และแหนตามลำคลองธรรมชาติ เมื่อปลาพื้นถิ่นถูกกำจัดก็ทำให้พืชเหล่านี้เกิดขึ้นเต็มลำคลอง น้ำไหลไม่สะดวก กีดขวางการจราจรทางน้ำ และยังมีผลทำให้คลองตื้นเขินในอนาคตอีกด้วย

สำหรับพื้นที่หมู่ 1 ต.แพรกหนามแดง ส่วนใหญ่ชาวบ้านเลี้ยงปลานิลและทำนา แม้จะมีผลกระทบไม่มาก แต่ก็ยอมรับว่าปลาหมอคางดำได้แพร่ระบาดเต็มพื้นที่แล้ว ก่อนหน้านี้กรมประมง ออกมาช่วยแก้ปัญหาตามห้วงงบประมาณด้วยการปล่อยปลากะพง ขนาด 3 นิ้วในคลองธรรมชาติเพื่อกำจัดลูกปลาหมอคางดำ รวมทั้งการลงแขกลงคลอง ตามคลองใช้อวนจับปลาหมอคางดำในพื้นที่การระบาด ก็น่าจะได้ผลอยู่บ้างแต่คงไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะจับได้แค่ตัวใหญ่ ส่วนตัวเล็กหลุดรอดอวนไปไม่กี่วันก็ขยายพันธุ์ได้อีก การจะทำให้ปลาหมอคางดำหมดไปคงเป็นไปได้ยากเพราะปลามันอยู่ในน้ำ เรามองไม่เห็น สิ่งที่ตนคิดไว้แต่จะมีแนวร่วมหรือเปล่า คือต้องมีการล้างบางเก็บกวาดทั้งหมดแล้วเริ่มต้นใหม่ เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำให้สิ้นซาก แล้วต่อไปก็ต้องป้องกันไม่ให้ปลาสายพันธุ์เอเลี่ยนสปีชีส์ลักษณะนี้เล็ดลอดออกมาแพร่พันธุ์ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านและผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้อีก.