ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุไว้ว่า “การส่งเสริมการมีสุขภาวะที่ดีสำหรับคนทุกช่วงวัย มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน โดยต้องดำเนินการอย่างจริงจังในทุกระดับ ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาคและประเทศ ผ่านการประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ด้านการดูแลรักษาสุขภาพและการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อความเจ็บป่วยเบื้องต้นอย่างถูกต้อง การสร้างระบบการบริการสุขภาพที่ทันสมัย เข้าถึงได้และมีคุณภาพ”

สอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในเป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย (Ensure healthy lives and promote well-being for all at all ages)

หากล่าวถึงปัญหาสุขภาพ เชื่อว่าสิ่งแรกๆ ที่ปรากฎขึ้นในความคิดของใครหลายคนมักจะเป็นโรคร้ายแรงที่สังเกตได้จากภายนอก ทว่ายังมีอีกปัญหาสุขภาพที่รุนแรงและส่งผลต่อการใช้ชีวิตโดยตรง แต่กลับถูกมองข้ามไป นั่นคือ ‘โรคตา’

‘สายตา’ เปรียบเสมือนประตูสู่โลกกว้าง ช่วยให้เราสามารถรับรู้ แสดงออก และเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว  ทว่า ‘โรคตา’ กลับกลายเป็นภัยเงียบที่คุกคามคุณภาพชีวิตของคนไทยไม่น้อย โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ผู้คนใช้เวลากับหน้าจอเป็นเวลานาน ข้อมูลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า โรคตาเป็นสาเหตุสำคัญอันดับต้นๆ ของการตาบอดในประเทศไทย โดยในปี 2564 มีผู้ป่วยตาบอดใหม่กว่า 60,000 คน ซึ่งโรคตาที่พบบ่อย ได้แก่ ต้อกระจก ต้อหิน โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคเบาหวานขึ้นจอตา และสายตาสั้น โรคเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั้งทางตรงและทางอ้อม

หากถามว่า SDG เกี่ยวข้องกับ โรคตา อย่างไร?

คำตอบคือ ‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในข้อ 3 คือการมีสุขภาพที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดี มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสุขภาพตา’ ดังนั้นการจะบรรลุ SDG ข้อ 3 ได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรต่างๆ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ประกอบกับการสร้างเสริมศักยภาพในการดูแลสุขภาพตา และการวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการรักษาโรคตาที่มีประสิทธิภาพ ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน

ดังที่ ‘เคทีซี ร่วมกับ ศูนย์จักษุและศูนย์เลสิก โรงพยาบาลกรุงเทพ จัดเสวนาปันความรู้ในหัวข้อ ‘เช็คความเสื่อม รู้ก่อนเสี่ยง ไขข้อข้องใจแบบเจาะลึกเกี่ยวกับสุขภาพตา’ รู้เท่าทันอันตรายของปัญหาสายตา ชี้แนวโน้มปัญหาสุขภาพตาในวัยเด็กสูงขึ้น แก้ไขได้ก่อนสายเกินไป พร้อมเผยโฉมศูนย์จักษุและศูนย์เลสิกแห่งใหม่ ซึ่งโรงพยาบาลกรุงเทพยกระดับเป็นศูนย์รักษาโรคเฉพาะทางที่เกี่ยวกับตา พร้อมนวัตกรรรมเทคโนโลยีครบครันและจักษุแพทย์ผู้ชำนาญการ และทีมสหสาขาวิชาชีพ 80 ท่าน ให้บริการดูแลรักษาสุขภาพดวงตา

 “จากสถิติผู้ป่วยมาขอรับคำปรึกษาและเข้ารับการรักษาปัญหาทางสายตาที่โรงพยาบาลกรุงเทพ มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2567 มีผู้เข้ารับการบริการประมาณ 200 คนต่อวัน และปีนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 10% เนื่องจากการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบันเราใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีกันมากขึ้นทุกช่วงอายุ ล้วนส่งผลกระทบต่อสายตาเป็นอย่างมาก เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นหรือวัยทำงาน ด้วยการต้องใช้จอโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานานจะพบปัญหาสายตาสั้น ตาแห้ง ต้อลม ต้อเนื้อ หรือตาล้า ต่อมาในวัยราว 40 ปี มีปัญหาสายตายาวตามวัยจะพบปัญหาในเรื่องต้อกระจก ต้อหิน ได้มากขึ้น รวมไปถึงโรคตาที่เกิดจากเบาหวานหรือจอตาเสื่อม” ‘พญ.ธารินี เสงี่ยมพรพาณิชย์’ ผู้อำนวยการศูนย์จักษุและศูนย์เลสิก โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าว

โรงพยาบาลกรุงเทพได้มีการปรับโฉมศูนย์จักษุและศูนย์เลสิกขึ้นใหม่ เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยเฉพาะทางตาที่มากขึ้น โดยให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาภาวะความผิดปกติทางตาสำหรับผู้ป่วยทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นโรคตาทั่วไปหรือโรคทางตาที่ซับซ้อน ทางศูนย์ฯ พร้อมแก้ไขทุกปัญหา รวมทั้งปัญหาด้านสายตา ทั้งสายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด สายตาเอียงและสายตายาวตามอายุ โดยทีมจักษุแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางครบทุกสาขาที่มีประสบการณ์สูง ร่วมกับการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์และเครื่องมือทันสมัยในการตรวจวินิจฉัยและการผ่าตัดแก้ไขสายตาทุกรูปแบบ ทั้งด้วยเลเซอร์แก้ไขสายตาหลายรูปแบบ รวมทั้งเลนส์เสริม ICL โดยที่ผ่านมาให้บริการผ่าตัดแก้ไขปัญหาสายตามามากกว่า 3,500 ราย

‘พญ.ธารินี’ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ที่ศูนย์จักษุและศูนย์เลสิกมีจักษุแพทย์เฉพาะทาง เพื่อดูแลรักษาผู้มีปัญหาสุขภาพตาทุกช่วงวัย อาทิ ผ่าตัดแก้ไขจอประสาทตา ม่านตาอักเสบ ศัลยกรรมจักษุตกแต่ง โรคตาเด็กและกล้ามเนื้อตา การวัดสายตาประกอบแว่นด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือในการตรวจวิเคราะห์ดวงตาเชิงลึกครบครันด้วยเลเซอร์รักษาโรคตาและเครื่องมือผ่าตัดที่ได้มาตรฐาน เพื่อดูแลรักษาดวงตาของผู้มารับการรักษาให้มีสุขภาพดีแบบองค์รวม

นอกจากนี้ ศูนย์จักษุและศูนย์เลสิก ยังเปิดให้บริการในรูปแบบ ‘สมาร์ท เซอร์วิส’ (Smart Services) ทั้งแนวคิดการออกแบบสภาพแวดล้อมที่สร้างสรรค์เพื่อบรรยากาศผ่อนคลาย เพื่อให้เข้าถึงการบริการดูแลรักษาอย่างเป็นสัดส่วน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน โดยคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของผู้มาใช้บริการเป็นสำคัญ

เช่นเดียวกันกับ‘พญ.ฐิดานันท์ รัตนธรรม’ จักษุแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระจกตาและผ่าตัดแก้ไขสายตาโรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาสายตาสั้น ยาว เอียงหรือยาวตามอายุ ปัจจุบันมีเทคนิคและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยคืนความคมชัด ด้วยมาตรฐานโรงพยาบาลกรุงเทพ หัตถการต่างๆ ทำในห้องควบคุมอุณหภูมิความชื้นและระบบปลอดเชื้อด้วยมาตรฐาน JCI ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก จักษุแพทย์จะคัดสรรเทคโนโลยีเฉพาะบุคคล เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด

ไม่ว่าจะเป็น ‘ReLEx Smile’ หรือเลเซอร์ปรับความโค้งกระจกตา ใช้แก้ไขสายตาสั้นและเอียงแบบแผลเล็กเพียง 2 – 4 มิลลิเมตร โดยไม่มีการเปิดฝากระจกตา คงความแข็งแรงของกระจกตาได้ดี ตาแห้งน้อย รวดเร็ว ปลอดภัยและเบาสบาย ดวงตาขณะผ่าตัด ‘FemtoLasik’ หรือเลสิกไร้ใบมีด ใช้แก้ไขสายตาสั้น-ยาวแต่กำเนิดและเอียง ด้วยเลเซอร์ทุกขั้นตอน รวดเร็ว ปลอดภัย รวมถึงไม่ทำให้กระจกตาบางลง และยังมีแผลขนาดเล็ก ตาไม่แห้ง มองเห็นคมชัดแม้ในเวลากลางคืน

ขณะที่‘สิรีรัตน์ คอวนิช’ ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันการพบแพทย์เพื่อแก้ไขความบกพร่องและความสวยงาม มักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของ ‘สุขภาพตา ซึ่งเป็นภัยเงียบ’ และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ทว่าด้วยนวัตกรรมการรักษาที่มีการพัฒนาขึ้น การรักษากับสถานพยาบาลชั้นนำที่มีมาตรฐานและแพทย์ผู้ชำนาญการที่มีประสบการณ์สูง จะช่วยลดระยะเวลาในการพักฟื้น และเสริมสร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างคล่องตัว

นอกจากนี้ ‘สิรีรัตน์’ ยังเปิดเผยถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของสมาชิกบัตรเคทีซีต่อกรณีดังกล่าว ที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการใช้จ่ายในหมวดสุขภาพและความงามมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ทั้งหมวดโรงพยาบาล ความงาม ฟิตเนส กีฬา เติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ มากถึง 14% กล่าวคือ สมาชิกมีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซีเฉลี่ย 5 ครั้งต่อคนต่อปี โดยยอดใช้จ่ายผ่านบัตรฯ ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ (ซอยศูนย์วิจัย) เติบโตสูงกว่า 30%

เคทีซีจึงได้จับมือกับศูนย์จักษุและเลสิก   โรงพยาบาลกรุงเทพ ออกแบบสิทธิพิเศษเพื่อมอบให้กับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี และสมาชิกบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” ที่ใช้บริการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องของสายตา ณ ศูนย์จักษุและเลสิก โรงพยาบาลกรุงเทพ ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ถึง 31 ธันวาคม 2567