แอฟริกาใต้เป็นที่อยู่อาศัยของแรดจำนวนมากในโลก และในขณะเดียวกัน มันก็เป็นจุดศูนย์กลางของการลักลอบล่าสัตว์ ที่ได้รับแรงหนุนจากทวีปเอเชียด้วย เนื่องจากนอแรดถูกมองว่า มีสรรพคุณทางยาในการแพทย์แผนโบราณ อีกทั้งมันเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดมืด และมีราคาตามนํ้าหนักเทียบเท่ากับทองคำ และโคเคน

นายเจมส์ ลาร์กิน ผู้อำนวยการหน่วยฟิสิกส์รังสีและสุขภาพ ของมหาวิทยาลัยวิตวอเตอร์สแรนด์ และผู้นำโครงการริเริ่มนี้ กล่าวว่า เขาใส่ชิปกัมมันตรังสีขนาดจิ๋ว 2 ชิ้นไว้ในนอแรด จากนั้นจึงฉีดไอโซโทปรังสีตามเข้าไป ซึ่งมันมีปริมาณตํ่ามาก จนไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแรด หรือสิ่งแวดล้อม

“สารกัมมันตภาพรังสีข้างต้นจะทำให้นอแรดไร้ประโยชน์ และเป็นพิษต่อการบริโภคของมนุษย์” นายนิทายา เชตตี ศาสตราจารย์ และคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน กล่าวเพิ่มเติม

เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา กระทรวงสิ่งแวดล้อมแอฟริกาใต้ระบุว่า แม้รัฐบาลพยายามจัดการกับการค้าผิดกฎหมาย แต่มีแรดมากถึง 499 ตัว ถูกฆ่าในปี 2566 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุทยานที่ดูแลโดยรัฐ และตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปี 2565

ลาร์กินกล่าวว่า แรด 20 ตัว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่อง “ไรโซโทป” (Rhisotope) โดยพวกมันจะได้รับสารกัมมันตรังสีปริมาณมากพอที่จะตอบสนองกับเครื่องตรวจจับที่ติดตั้งทั่วโลก ตามจุดผ่านแดนระหว่างประเทศ ซึ่งเดิมทีถูกใช้งานเพื่อป้องกันการก่อการร้ายด้วยอาวุธนิวเคลียร์

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์หลายคนกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ชายแดนมักจะมีเครื่องตรวจจับรังสีแบบพกพา ซึ่งสามารถตรวจพบของผิดกฎหมายได้ นอกเหนือจากเครื่องตรวจจับรังสีหลายพันเครื่อง ที่ติดตั้งไว้ตามท่าเรือและสนามบิน

ด้านนายอาร์รี วาน ดีเวนเทอร์ ผู้ก่อตั้งสถานเลี้ยงแรดกำพร้าลิมโปโป ในเขตวอเตอร์เบิร์ก ทางตะวันออกเฉียงเหนือของแอฟริกาใต้ กล่าวว่า การตัดนอแรด และการวางยาพิษนอแรด ไม่สามารถขัดขวางผู้ลักลอบล่าสัตว์ได้ แต่การฉีดสารกัมมันตรังสีเข้าไปในนอแรด ถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ที่เขาเคยได้ยินมา

ขณะที่ นางเจสสิกา บาบิช ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ (ซีโอโอ) ของโครงการไรโซโทป กล่าวว่า ขั้นตอนสุดท้ายของโครงการ คือการดูแลสัตว์หลังการดำเนินการทางวิทยาศาสตร์และจริยธรรมที่เหมาะสม จากนั้นทีมงานจะเก็บตัวอย่างเลือดของแรด เพื่อทำให้แน่ใจว่า พวกมันได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพ.