“โครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง” สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป (อียู) ได้ตระหนักให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนเมืองและสิ่งแวดล้อม จึงได้เปิดเวทีเสวนา “เมือง (ไม่) รู้ร้อนรู้หนาว กับ ชุมชนเมือง ในยุคโลกเดือด” แนวทางนำสู่การเตรียมความพร้อม รับมือ ปรับตัว อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม (People-centred urban climate resilience and adaptation)

ดร.ผกามาศ ถิ่นพังงา ผอ.โครงการประชาสังคมร่วมแรงเพื่อเปลี่ยนแปลงเมือง เล่าถึงโครงการฯโจทย์ใหญ่ ทำให้ภาคประชาสังคมไทยมีบทบาทขับเคลื่อนเรื่องเมืองและสิ่งแวดล้อม ดำเนินงานใน 6 จังหวัดนำร่อง สงขลา พัทลุง สตูล ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย เป้าหมายสร้างศักยภาพภาคประชาสังคม โดยทำงานร่วมกับภาควิชาการและภาครัฐ เหตุที่เน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญ คำว่า “เมือง” ไม่ใช่แค่พื้นที่เทศบาลนคร

แต่เป็น เรื่องกระบวนการ กลายเป็นเมือง เช่น การปรับเปลี่ยนพื้นที่สีเขียว พื้นที่ชุ่มนํ้า พื้นที่เกษตร ให้กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร ที่อยู่อาศัย ถนน โรงงานอุตสาหกรรม ทั้งจากนโยบายรัฐและภาคธุรกิจ ประชากรอพยพมาอยู่ในเมืองใหญ่มากขึ้น การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เป็นธรรมและเท่าเทียม จำเป็น ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นแล้ว เห็นผลกระทบชัดเจน จะเตรียมความพร้อมอย่างไร ไม่ใช่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้รับผลกระทบมากกว่า เราใช้เวลา 5 ปี คลี่คลายประเด็นการพัฒนาเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริบทแต่ละพื้นที่ต่างกัน ปัญหาที่มีต่างกัน

หากชุมชนมีศักยภาพและเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ของเมือง มีศักยภาพในการปรับตัว และเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติและความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ที่ผ่านมาเราประเมินความเปราะบางชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นำไปสู่การวางแผน รับมือ ปรับตัว ยึดหลักให้ชุมชนภาคประชาสังคมเก็บข้อมูลเอง มีข้อมูลระดับครัวเรือน ระดับชุมชน และเชิงลึก เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงเมืองในอดีต ปัจจุบันและในอนาคต” ดร.ผกามาศ กล่าวและว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นที่ประจักษ์

เหตุการณ์สุดขั้วอย่างปี 66 ที่นราธิวาส-ยะลา ฝนตกหนักระดับ 600 มิลลิเมตร ในรอบ 24 ชั่วโมง ซึ่งไม่เคยเกิดมาก่อน เกิดนํ้าท่วมหนัก แสดงถึงความไม่ปกติ คาดการณ์ได้ยากขึ้น ปัจจุบันเมืองต่าง ๆ ในไทย มีแนวโน้มเหมือนกรุงเทพมหานคร การพัฒนาอย่างไร้ทิศทาง ผังเมืองหมดอายุ ส่งผลปัญหาซับซ้อนแก้ยาก

ด้าน ศ.ดร.บัวพัน พรหมพักพิง ศูนย์ประชาสังคมและการจัดการองค์กรเอกชน และสาธารณประโยชน์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.ขอนแก่น ขยายความว่า ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย เป็นเมืองเกิดขึ้นตามมิตรภาพ การพัฒนาเมืองมีการทำเส้นทางรถไฟ สร้างถนนมิตรภาพ ทำให้เศรษฐกิจเติบโต ปัจจุบันมีโครงการรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง เมืองจะยิ่งเติบโต และมีรายได้สูง สภาพความเปราะบางของเมืองขอนแก่นมีปัญหาที่อยู่อาศัย ผลกระทบจากโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ นำไปสู่การหาที่อยู่อาศัยใหม่ ต้องปรับตัวหาอาชีพใหม่ และรายล้อมด้วยปัญหาของเมือง ฝนตกนํ้าท่วม

ส่วนอุดรธานี ยกกรณี เมืองหนองสำโรง ที่พัฒนาเป็นบ้านจัดสรร ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่นํ้าท่วมและแหล่งเสื่อมโทรม เมื่อมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ก็ถมที่ดินสูงขึ้น ที่อยู่อาศัยเดิมก็ไม่มีปัญญาปรับปรุง คนจนคนรวยก็อยู่ผสมกันในเมือง ยังไม่พูดถึงเมืองเกิดใหม่ที่ขาดโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เกิดนํ้าเสีย แต่ยังสามารถแก้ปัญหาได้

ขณะที่หนองคาย มีกรณี อ.สระใคร รัฐบาลตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย นำป่าชุมชนเปลี่ยนสถานะเป็นพื้นที่โครงการ ดังกล่าว จะเปลี่ยนแปลงชุมชนอย่างแน่นอน เราชวนชาวบ้านที่เริ่มตื่นตัว วางแผนหากเมืองใหม่เกิดขึ้นจะปรับตัวอย่างไร แต่กลับถูกกล่าวหาว่าต่อต้านเขตเศรษฐกิจพิเศษ

หลาย ๆ เรื่องที่เกิดขึ้น มองได้ว่า ฉากทัศน์การพัฒนาเมืองในประเทศไทย ที่จะไปในทิศทางเดียวกัน ยังขาดมุมมอง 360 องศา ที่ทุกฝ่ายควรต้องหันมาร่วมมือสื่อสารมองให้เป็นภาพเดียวกัน.