การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ จาการดำเนินงานขององค์กรเป็นตัวบ่งชี้ว่าองค์กรให้ความสำคัญต่อปัญหาสภาวะโลกร้อน มหาวิทยาลัยรังสิตให้ความสำคัญปัญหาสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงมีนโยบายที่ฝ่ายอาคารและสิ่งแวดล้อมนำมาขับเคลื่อนใช้พลังงานสะอาดจากSolar Cell ใช้ทดแทนพลังงานจากFossils ทั้งถ่ายทอดความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานสู่ชุมชนและบุคคลากร  

รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ รุจิระยรรยง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายอาคารและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มหาวิทยาลัยดำเนินโครงการ RSU Solar Rooftop ซึ่งเป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลแสงอาทิตย์ โดยมี 3 เฟส เป็นการดำเนินการในรูปแบบ PPA (Power Purchase Agreement) เปิดประมูลให้ผู้ประกอบการลงทุนผลิตกระแสไฟฟ้า ขายไฟฟ้าให้มหาวิทยาลัยในราคาที่ตกลงตามระยะเวลาของโครงการ เมื่อครบกำหนดระบบทั้งหมดส่งมอบให้มหาวิทยาลัยโดยสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปประมาณ 25-30 ปี

สำหรับเฟส 1 มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1 MW ติดตั้งบนหลังคาอาคารดิจิทัลมัลติมีเดีย คอมเพล็กซ์และหลังคาลานจอดรถใช้งานตั้งแต่ปี 2563 ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าคิดเป็นเงิน1.4 ล้านบาท/ปี เฟส 2 มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1 MW ติดตั้งบนหลังคาอาคารนันทนาการใช้งานตั้งแต่ปี2565 ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าคิดเป็นเงิน1.8 ล้านบาท/ปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการติดตั้งเฟส 3 มีกำลังการผลิต 2.0 MW คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งนี้เมื่อดำเนินการครบทั้ง 3 เฟส มหาวิทยาลัยจะมีสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดถึง 21% ทั้งนี้ การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์แทนการใช้พลังงาน Fossils ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกเฉลี่ย 2,100 ตันต่อปี เทียบได้กับการปลูกต้นไม้เพิ่ม 150,000 ต้น

นอกจากนี้ ฝ่ายอาคารและสิ่งแวดล้อม กำลังปรับปรุงอาคารที่ตั้งของฝ่ายอาคารและสิ่งแวดล้อมให้เป็น อาคารที่ใช้พลังงานไฟฟ้าสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Energy Building) เป็นอาคารต้นแบบที่ถูกขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด 100 เปอร์เซ็นต์  อาคารที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยจะติดตั้งระบบเพื่อผลิตไฟฟ้าที่ 119 kW พร้อมด้วยระบบกักเก็บพลังงานขนาด 25 kWhr ไว้ใช้ในเวลากลางคืนหรือช่วงที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์

“อาคารต้นแบบที่ใช้พลังงานไฟฟ้าสุทธิเป็นศูนย์จะขยายผลเพื่อใช้ในอาคารอื่นๆต่อไป โดยเพิ่มระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่ นอกจากนี้เมื่อผนวกกับโครงการอื่นๆที่มหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการ เช่น โครงการควบคุมอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศตามการใช้งานแบบ Real time ตามการใช้งานจริงด้วยระบบ  IoT  โครงการระบบทำน้ำเย็นแบบรวมศูนย์ (District Cooling) โครงการติดตั้งอุปกรณ์ลดการใช้พลังงานที่ตู้ MDB ของอาคาร และโครงการ Smart Meter เพื่อติดตามควบคุมการใช้ไฟฟ้าในอาคารจะช่วยลดการใช้พลังงานและส่งผลให้สัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น”

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมุ่นเน้นขับเคลื่อนพลังงานสะอาด ไม่เพียงเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นที่มาของภาวะโลกร้อน แต่เตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ร่วมดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนต่อไป.