เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำทีม สพฐ. ร่วมงาน “สพฐ.สัญจร รวมพลังแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากร” จุดที่ 2 ภาคตะวันออก จังหวัดสระแก้ว ณ โรงเรียนอรัญประเทศ สพม.สระแก้ว ร่วมกับ ดร.กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ดร.ขจร ธนะแพสย์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย และผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาญจนบุรี ร่วมพบปะหารือแนวทางการเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากร สังกัด สพฐ. ในภาคตะวันออก โดยมี นายภูมิวัชร์ อุดมทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยผู้บริหาร สพท. ข้าราชการและบุคลากรในพื้นที่ภาคตะวันออก 6 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด จำนวนกว่า 400 คน พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ Facebook live : ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา สพฐ. ไปยังผู้ชมที่สนใจทั่วประเทศ โดยมียอดผู้ชมการถ่ายทอดสดกว่า 7,800 คน

โอกาสนี้ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. รวมถึงนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ มุ่งมั่นในการคลายทุกข์ เพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน ให้ครูมีความสุขในการปฏิบัติหน้าที่ อย่างเต็มความสามารถ ตามนโยบาย “เรียนดี มีความรู้” จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน ทุกภาคส่วน ผ่ายการเจรจาของทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูบรรลุผล สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผอ.เขต ที่เป็นผู้นำของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นผู้มีบทบาทหลักที่จะทำให้บุคลากรในสังกัด ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน และทำให้ทุกๆ คน ได้รับเงินเดือนเหลือมากกว่า 30% เพื่อการครองชีพ ไม่ให้ผลกระทบจากปัญหาหนี้สินส่งผลต่อคุณภาพชีวิต แต่หากบุคลากรในสังกัดยังคงประสบปัญหาชีวิต จนไม่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพ ผอ.เขต ควรมีแนวทางการงดหักเงินให้เจ้าหนี้ เพื่อให้ครูและบุคลากรมีเงินเดือนเหลือมากกว่า 30% สามารถดำรงชีพได้ ซึ่งมีกฎหมาย และระเบียบรองรับ ภายใต้การเจรจาหักหนี้เพื่อให้ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมายด้วย

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาหนี้สินครูที่มีประสิทธิภาพ สามารถปฏิบัติได้ทุกเขต ได้แก่ แนวปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการหักเงิน 7 ขั้น เพื่อคลายทุกข์ สร้างสุขให้บุคลากรทุกคน ดังนี้

1.ผอ.เขต ตรวจสอบเงินเดือนเหลือสุทธิของครูบุคลากร
2.จัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเหลือน้อยกว่า 30%
3.งดหักเงินเดือน กรณีเหลือน้อยกว่า 30%
4.คำนวณยอดผ่อนชำระ และวางแผนชำระเงินรายเดือน ร่วมกับเจ้าหนี้ทุกราย
5.เจรจากับเจ้าหนี้ ขอความร่วมมือผ่อนชำระตามแผนชำระเงินเดือน
6.ตรวจสอบยอดเงินคงเหลือรายบุคคลอย่างต่อเนื่อง
7.ควบคุมการกู้เงินเพิ่มไม่ให้เกินศักยภาพที่จะทำได้


“ทั้งนี้เป้าหมายที่ต้องการคือ ให้ข้าราชการครูและบุคลากร มีสภาพคล่องทางการเงินและมีเงินเดือนเหลือมากกว่า 30% แล้ว ต้องมีการป้องกันปัญหาอย่างยั่งยืนโดยการพัฒนาสมรรถนะทางการเงิน ให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทุกคน รวมถึงนักเรียนของเราที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ในรูปแบบ Anywhere Anytime โดยหลักสูตรเสริมสร้างสภาพคล่องการเงินครู และหลักสูตรครูไทย การเงินดีมีความสุข เกษียณสบาย สร้างวินัยทางการเงินให้ครูบรรจุใหม่ และนักเรียนทุกคนมีสมรรถนะทางการเงิน เพื่อเป็นเกราะป้องกันด้านการเงิน ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมพัฒนาประเทศต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทั้งนี้ ภายในงานมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจ อาทิ “ความสำคัญของการยกเลิกการผูกขาดที่ครูจะต้องกู้ยืมจากสหกรณ์ในจังหวัดเท่านั้น เพื่อช่วยให้ครูได้รับอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม” พร้อมมอบเกียรติบัตรสหกรณ์และเขตพื้นที่ฯที่มีผลงานดีเด่น โดย ดร.กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย “การไกล่เกลี่ยแก้ไขปัญหาครูที่มีเงินดำรงชีพเหลือน้อยกว่า 30% และกรณีที่กำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดี” โดย ดร.ขจร ธนะแพสย์ เลขานุการคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย “มติ ครม. ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนฯ พ.ศ. 2551 และคำพิพากษา กฎหมาย ระเบียบและแนวปฏิบัติ” โดย นางสาวจันทิมา ธนาสว่างกุล อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการสูงสุด และ “สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกับการช่วยเหลือสมาชิก” โดย ดร.ณรินทร์ ชำนาญดู ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาญจนบุรี จำกัด เป็นต้น