เมื่อเวลา 11.13 น. วันที่ 30 มิ.ย. ที่โรงเรียนรัตนบุรี ต.รัตนบุรี อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี  ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่ภาคอีสานต่อ 3 วันที่ จ.ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และสุรินทร์ ตั้งแต่วันที่ 28-30 มิ.ย.ว่า ส่วนการลงพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด ถือว่าเป็นจังหวัดอีสานตอนใต้จังหวัดหนึ่งที่มีศักยภาพสูง ตนได้ไปดูการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว เพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำ ที่ช่วยทั้งในช่วงฤดูแล้งและฤดูฝน สร้างประโยชน์ให้ประชาชนมีน้ำใช้ในทุกครัวเรือน

นายกฯ กล่าวต่อว่า  ขณะที่การลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี  ปัญหาหลักๆ ที่รับฟังจากประชาชน คือเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง  เรื่องราคาสินค้าเกษตร  เรื่องปัญหายาเสพติด และไปดูเรื่องกระบวนการทำเทียนพรรษา ซึ่งถือว่ามีความสวยงาม และมีคนมาดูงานแห่เทียนพรรษาจำนวนมากปีละหลายหมื่นคน ควรที่จะส่งเสริมให้เป็นเฟสติวัลหรืออีเวนต์ประจำปีของจังหวัด  เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มรายได้ให้กับ จังหวัด และประชาชนในพื้นที่  ซึ่งในวันที่ 20-21 ก.ค. 67 จะมีงานใหญ่ตนก็จะพยายามเคลียร์ตารางงานเพื่อจะมาร่วมงานด้วย  

นายกฯ กล่าวต่อว่า ส่วนการลงพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด ที่มีผลการจับกุมเรื่องยาเสพติดมากเป็นที่อันดับ 2 ของประเทศ ของพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง จะต้องหามาตรการในการปราบปรามและรักษาผู้ป่วยที่ติดยาเสพติดอย่างเร่งด่วนภายในสิ้นไตรมาส 3 หรือสิ้นเดือน ก.ย. 2567 ทำให้ จ.ร้อยเอ็ด เป็นพื้นที่สีขาวปลอดยาเสพติด ถ้าตรงนี้ทำได้และเป็นพื้นที่สีขาวจริง เราก็จะไปทำจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน ขณะที่การลงพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ดูเรื่องสินค้าเกษตร ปัญหาราคาหอมแดง ซึ่งก่อนที่เราจะมาเป็นรัฐบาลราคาอยู่ที่ 10 บาทต้นๆ ต่อกิโลกรัม  ซึ่งปีที่ผ่านมาทำได้ในราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม ก็ทำให้พี่น้องเกษตรกรพออยู่ได้ ปีนี้ก็ได้ให้ดัชนีวัดความสำเร็จ (KPI) กระทรวงพาณิชย์ว่าจะต้องทำให้ได้ 20 บาทต่อกิโลกรัม รวมถึงราคาพริก ที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 20 บาทต่อกิโลกรัม แต่ปัจจุบันขายได้ 25 บาทต่อกิโลกรัม  ทำให้เกษตรกรมีเงินเหลือน้อยมากในกระเป๋า แต่เราก็พยายามที่จะทำให้ได้ในราคา 35 บาทต่อกิโลกรัม

นายกฯ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ การลงพื้นที่ จ.สุรินทร์ ถือเป็นจังหวัดที่ปลูกข้าวได้เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ทั้งข้าวเกษตรอินทรีย์ ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ที่ขายได้ในราคากิโลกรัมละ 45 บาท ตันละประมาณ 45,000 บาท แต่หากเป็นข้าวเกษตรอินทรีย์ล้วนอาจมีราคา 100 บาทต่อกิโลกรัม ตันละ 1 แสนบาท ถือว่ามีศักยภาพสูงมาก ฉะนั้นเราต้องมีวิธีการแปรรูปข้าว เพื่อทำให้ประชาชนมีรายได้ที่ดีขึ้น ส่วนเรื่องการพัฒนาโคเนื้อสุรินทร์วากิว ต้องมีการพัฒนาให้ดี หาตลาดให้ดีมีมาตรฐานคงเส้นคงวา และโรงเชือดต้องมีให้เพียงพอ รวมถึงโรงตัดแต่งเนื้อจะต้องมีให้เพียงพอด้วยเช่นกัน ซึ่งโคเนื้อวากิวถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ที่จะทำให้รายได้พี่น้องประชาชนดีขึ้น

เมื่อถามว่าเรื่องโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เกษตรกรมีการตอบรับอย่างไรบ้าง นายกฯ กล่าวว่า ต้องเอาไปปรับปรุงนิดหน่อย เพราะแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด บางคนต้องการ แต่บางคนก็มีข้อเสนอแนะมา ซึ่งตนได้ให้ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) รวบรวมเรื่องของข้อเสนอแนะและการปรับปรุงโครงการให้ดีขึ้นไปอีก.