กรณีนายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช เขต อ.ปากพนัง ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้จังหวัดนครศรีธรรมราช เร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอสีคางดำ” หรือที่รู้จักกันในนาม “ปลาหมอคางดำ” ซึ่งในปัจจุบันกลายเป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์”หรือสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและทำลายสัตว์น้ำประจำถิ่น ตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร สร้างปัญหาใน 13 จังหวัดของไทย จนล่าสุดประมงจังหวัดเตรียมประกาศพื้นที่แพร่ระบาด และดีเดย์กำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่บ่อบำบัดน้ำเสีย 40 ไร่เป็นปฐมฤกษ์ในวันที่ 14 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ตามที่ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ประมงเมืองคอนวอนรัฐเร่งกำจัด ‘ปลาหมอคางดำ’ ก่อนเข้าสู่ฤดูน้ำหลาก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าว่า ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา ในเขต อ.ปากพนัง และ อ.หัวไทร ได้แจ้งนายไพโรจน์ รัตนรัตน์ ในฐานะสมาชิกสภาเกษตรกร จ.นครศรีธรรมราชว่า ปลาหมอคางดำ หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า “ปลานิลแก้มดำ” ได้แพร่กระจายเข้าไปในในบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง นอกจากจะกินลูกกุ้ง ลูกปลาจนแทบเกลี้ยงบ่อแล้วยังแย่งกินอาหารกุ้ง อาหารปลา จนปลาและกุ้งที่รอดตายผอมแห้งผิดปกติ เกษตรกรขาดทุนป่นปี้ จึงอยากให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการกำจัดปลาหมอคางดำโดยเร็วที่สุด

นายเอกชัย ทรัพย์นวล เกษตรอาชีพเลี้ยงกุ้งกุลาดำ กล่าวว่า ปล่อยกุ้งกุลาดำเลี้ยงในบ่อเลี้ยงกุ้ง เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ในช่วงแรก ๆ ก็รู้สึกดีใจเพราะเข้าใจว่าลูกกุ้งที่เลี้ยงกินอาหารดี เติบโตเร็ว แต่เมื่อถึงเวลาใกล้จะจับกุ้งขาย พบว่าในบ่อเลี้ยงมีกุ้งน้อยผิดปกติ กุ้งที่มีอยู่แต่ละตัวผอมโซ หรือที่เรียกว่ากุ้งก๊อบแก๊บ มาทราบสาเหตุภายหลังว่าในบ่อเลี้ยงมีปลาหมอคางดำอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อให้อาหารกุ้งตามปกติ ปลาหมอคางดำก็แย่งอาหารกินจนกุ้งไม่สามารถกินอาหารได้ทัน ทำให้กุ้งผอมก๊อบแก๊บ จึงรีบโปรยกากชาในบ่อเพื่อฆ่าปลาหมอคางดำ แต่ตายไม่หมดและกลับมาขยายพันธุ์รวดเร็วมาก อีกทั้งถ้าใส่กาดชามากก็จะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของกุ้งกุลาดำ ในที่สุดการเลี้ยงกุ้งกาดำในรอบนี้กลับมาเป็นการเลี้ยงปลาหมอคางดำแทน ขาดทุนยับเยิน

ขณะที่ชาวบ้านอีกครอบครัวหนึ่งที่หันมาประกอบอาชีพจับปลาหมอคางดำไปขาย กก.ละ 20 บาท ได้ลงแรงร่วมกันจับได้วันละ 400-500 กก. ซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้ครอบครัวเป็นกอบเป็นกำ และหากทางราชการมีโครงการดีเดย์จับปลาหมอคางดำ ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ เพราะจับขายตามปกติอยู่แล้ว

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้งหลายราย กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก ในขณะที่ทางกรมประมง และจังหวัดนครศรีธรรมราช ยังไม่มีงบประมาณมาดำเนินการปัญหากำจัดปลาหมอคางดำ ฤดูฝนที่น้ำจะไหลหลากท่วมก็ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ และจะทำปลาหมอคางดำแพร่กระจายขยายวงกว้างเต็มพื้นที่ อ.ปากพนัง อ.หัวไทร และใกล้เคียงอื่น ๆ เช่น อ.เชียรใหญ่ อ.เฉลิมพระเกียรติ ชะอวด และ อ.เมืองอย่างแน่นอน

นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า การรองบประมาณจากรัฐบาลจึงเป็นความสุ่มเสี่ยงอย่างมาก เพราะการไล่ล่ากำจัดจึงต้องเร่งดำเนินการให้หมดไปจากพื้นที่ก่อนช่วงฤดูฝน ทางสหกรณ์ประมงลุ่มน้ำปากพนังก็ช่วยสนับสนุนได้แค่ครั้งแรก 23,000 บาท ที่กำหนดวันดีเดย์ วันที่ 14 ก.ค.นี้ในพื้นที่ 40 ไร่เท่านั้น หลังจากนั้นจะทำอย่างไร หนทางเดียวที่จะมีงบประมาณมาดำเนินการระหว่างรองจากรัฐบาลคืองบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต.หรือเทศบาล และ อบจ. แต่ไม่สามารถอนุมัติงบประมาณมาช่วยได้เพราะผิดระเบียบทางราชการ ยกเว้นจังหวัดประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินมารองรับเท่านั้น

“หากจังหวัดไม่ประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉิน สภาเกษตรกร จะนิ่งเฉยดูดายรอให้เกิดความเสียหายกับเกษตรกรโดยไม่ได้ทำอะไรเลยคงไม่ได้ สภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช จึงขอเรียกร้องให้จังหวัดรีบประกาศเป็นเขตพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน จากการแพร่ระบาดคุกคามของปลาหมอคางดำ มหัตภัยร้ายจากต่างแดน หรือจะถึงคราที่อาชีพประมงของกลุ่มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งในลุ่มน้ำปากพนังจะล่มสลายเพราะเจ้าปลาหมอคางดำ ที่เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์จากต่างแดนในคราวนี้หรืออย่างไร” นายไพโรจน์ กล่าว.