สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ว่า รายงานฉบับดังกล่าว ซึ่งเผยแพร่โดยกระทรวงรวมชาติของเกาหลีใต้ อ้างอิงคำให้การจากผู้แปรพักตร์หลายร้อยคน รวมถึงกรณีของชาวเกาหลีเหนืออายุ 22 ปี ที่ถูกประหารชีวิตหลังจากยอมรับว่า ฟังเพลง และจัดจำหน่ายภาพยนตร์ของเกาหลีใต้ ซึ่งบีบีซีรายงานครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ตอนนั้น เกาหลีเหนือออกมาตอบโต้ว่าเป็น “การใส่ร้ายและเป็นข่าวปลอม” แต่ยังคงสงวนท่าที เกี่ยวกับข้อมูลล่าสุดที่รัฐบาลโซลเปิดเผย

สำนักข่าวยอนฮัปรายงานว่า เจ้าหน้าที่ของเกาหลีเหนือ ตรวจค้นบ้านของประชาชนบ่อยขึ้น ตั้งแต่ปี 2564 เพื่อค้นหาเบาะแสของวัฒนธรรมจากภายนอก โดยสัญญาณต่าง ๆ รวมถึง การสวมชุดแต่งงานสีขาว และการทำท่าให้เจ้าบ่าวแบกเจ้าสาวไว้บนหลัง

นอกจากนั้น โทรศัพท์ของประชาชนยังถูกสอดแนมและตรวจสอบอย่างละเอียด ว่ามีการใช้คำศัพท์สแลงของเกาหลีใต้ ในข้อความและรายชื่อผู้ติดต่อหรือไม่อีกด้วย

รายงานระบุอีกว่า แว่นกันแดดถือเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านเช่นกัน แม้นายคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ จะสวมแว่นกันแดดก็ตาม ก่อนหน้านั้น นายคิม จอง-อิล อดีตผู้นำสูงสุด ซึ่งเป็นบิดาของนายคิม จอง-อึน ยังเคยตราหน้าเครื่องแต่งกายบางประเภท ว่าเป็นการต่อต้าน อาทิ กางเกงยีน อย่างไรก็ตาม บทลงโทษสำหรับการกระทำเหล่านี้ยังไม่ชัดเจน

อนึ่ง การปราบปรามวัฒนธรรมเกาหลีใต้ในเกาหลีเหนือรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหลังมีการบัญญัติกฎหมายใหม่ เมื่อปี 2563 ที่กำหนดให้การรับชม หรือเผยแพร่ความบันเทิงของเกาหลีใต้มีโทษถึงประหารชีวิต

นอกจากนั้น รายงานประจำปีของเกาหลีใต้ ยังกล่าวถึงการประหารชีวิตต่อหน้าสาธารณะ หลังบีบีซีเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ชาวนาวัย 22 ปี ถูกประหารชีวิตในโทษฐานฟังเพลงของเกาหลีใต้ 70 เพลง, ชมภาพยนตร์ของเกาหลีใต้ 3 เรื่อง และแจกจ่ายเนื้อหาเหล่านั้นให้กับคนอื่น ๆ หลังจากนั้น คลิปวิดีโอเผยให้เห็นวัยรุ่น 2 คน ที่ถูกลงโทษจากข้อหาเดียวกัน เมื่อช่วงต้นปีนี้

ปัจจุบัน บรรยากาศบนคาบสมุทรเกาหลีกำลังตึงเครียดที่สุดในรอบหลายปี จากการที่เกาหลีเหนือส่งบอลลูนซึ่งเต็มไปด้วยขยะมากกว่า 2,000 ลูก ข้ามชายแดนมายังเกาหลีใต้ ตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว ซึ่งบางส่วนพบว่ามีพยาธิอยู่ด้านใน เพื่อตอบโต้การที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวแปรพักตร์ยังคงส่งบอลลูนผูกใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อ ให้ลอยข้ามพรมแดนไปยังเกาหลีเหนือ

ขณะเดียวกัน การพบกันระหว่างนายคิม จอง-อึน กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ที่กรุงเปียงยาง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังคงเป็นที่จับตาและวิเคราะห์ของหลายฝ่าย

ทั้งนี้ทั้งนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า นี่เป็นเพียงครั้งที่สองเท่านั้น ซึ่งเกาหลีใต้เผยแพร่รายงานลักษณะนี้ แม้มีการรวบรวมเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ปี 2561 ก็ตาม และรัฐบาลโซลยังคงยืนยัน การจัดทำและเผยแพร่รายงานเหล่านี้ ไม่มีวัตถุประสงค์ประสงค์เพื่อยั่วยุเกาหลีเหนือ.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES