เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระบุว่า สิทธิสมัครรับเลือก สมัครเป็นเท็จ รับจ้างสมัคร และคดีที่น่าสนใจในการเลือกลงกลุ่ม…ศาลฎีกาได้มีคำสั่ง คดีหมายเลขดำที่ ลต สว 185/2567 คดีหมายเลขแดงที่ ลต สว 169/2567 ว่า “การที่ผู้คัดค้าน (ผอ.เลือกระดับระดับอำเภอ) รับสมัครผู้ซึ่งประกอบอาชีพทำนาเกลือเป็นไปตามที่ผู้สมัครดังกล่าวประสงค์เข้ารับเลือกในกลุ่มที่ 5 ซึ่งผู้คัดค้านได้ประกาศรายชื่อผู้สมัครแยกเป็นรายกลุ่มตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 อันเป็นการดำเนินการตามความประสงค์ของผู้สมัคร ซึ่งเป็นการปฏิบัติอำนาจหน้าที่ของผู้คัดค้าน จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้อง (ผู้สมัครที่ไปร้องที่ศาลฎีกา) จะยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง”

เมื่อพิจารณาแล้ว พอจะคะเนได้ว่า สิทธิการรับสมัคร เป็นคนละส่วนกับเอกสารสารรับสมัครเป็นเท็จ หรือ เอกสารสารประกอบการสมัคร (สว.3) เป็นเท็จ เช่น ในใบ สว. 3 บอกว่าทำนาเกลือ แต่ในความเป็นจริงเมื่อตรวจสอบแล้วไม่ได้ทำนาเกลือแต่อย่างใด ลักษณะนี้จะเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ เป็นต้น

กรณี เอกสารรับสมัครด้วยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ กกต. ต้องตรวจสอบผู้สมัครทุกรายทั้ง 4 หมื่นกว่าคน ถ้าพบว่ามาสมัครด้วยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ก็อาจเป็นความผิดตามมาตรา 74 รู้ว่าตนไม่มีสิทธิแต่ก็มาสมัครรับเลือกตั้ง

อนึ่ง กรณีการรับจ้างสมัคร แม้เอกสารการรับสมัครถูกต้องสมบูรณ์ แต่ถ้ารับจ้างมาสมัคร ก็เป็นความผิดอีกกระทงหนึ่งต่างหากด้วย.