เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว องค์การการบินและอวกาศแห่งสหรัฐหรือ “นาซา” ได้โพสต์ภาพสุดคมชัดของดาวเคราะห์ดวงหนึ่งลงบนอินสตาแกรม โดยเขียนข้อความบรรยายภาพไว้ว่า “มันฝรั่งอวกาศ” เพราะรูปร่างที่ดูคล้ายกับพืชตระกูลหัวดังกล่าว

ภาพที่ให้รายละเอียดน่าทึ่งภาพนี้ได้มาจากกล้อง  High Resolution Imaging Science Experiment (HiRISE) ซึ่งเป็นกล้องที่มีความคมชัดสูงเพื่อการถ่ายภาพทางวิทยาศาสตร์ ที่ติดตั้งอยู่ในยานสำรวจ Mars Reconnaissance Orbiter ซึ่งโคจรอยู่รอบดาวอังคารมาตั้งแต่ปี 2549

ดาว “มันฝรั่งอวกาศ” หรือชื่อจริงว่า “โฟบอส” นี้เป็นหนึ่งในดาวบริวารของดาวอังคาร ซึ่งมีอยู่ 2 ดวง โฟบอสมีขนาดเล็กดวงจันทร์ของโลกราว 157 เท่า ส่วนดาวบริวารอีกดวงคือดีมอส ยิ่งมีขนาดเล็กกว่าโฟบอส 

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าดวงจันทร์บริวารทั้ง 2 ดวงของดาวอังคารนั้น แต่เดิมเป็นก้อนหินที่ลอยอยู่ในอวกาศและโดนแรงดึงดูดของดาวอังคารดึงเข้ามาโคจรรอบ ๆ จนกลายเป็นดาวบริวาร

ภาพใหม่ล่าสุดที่นาซาเพิ่งโพสต์ลงบนโซเชียลมีเดียนั้น ให้รายละเอียดของพื้นผิวสีน้ำตาลแดงของดาวโฟบอสว่าเต็มไปด้วยหลุมบ่อ แต่ขณะเดียวกันก็มีพื้นผิวที่สะท้อนแสงได้ ซึ่งเป็นร่องรอยที่บ่งบอกว่าโฟบอสน่าจะเคยเป็นดาวหางมาก่อน โดยคาดว่าน่าจะหลุดมาจากแถบดาวเคราะห์น้อย (Asteroid belt) ที่อยู่ระหว่างดาวพฤหัสบดีกับดาวอังคาร

วงโคจรของดวงจันทร์บริวารทั้งสองดวงนั้นไม่มีความแน่นอนหรือไม่เสถียร ทีมนักวิทยาศาสตร์ทำนายว่าภายในเวลาอีกหลายสิบล้านปี ดวงจันทร์ดีมอสจะหลุดออกจากวงโคจรและลอยออกสู่อวกาศ ส่วนโฟบอสนั้น อาจจะแตกออก กลายเป็นเศษเล็กเศษน้อยหรือพุ่งเข้าชนพื้นผิวของดาวอังคาร

อย่างไรก็ตาม วงโคจรของโฟบอสจะขยับเข้าใกล้ดาวอังคารในอัตรา 6 ฟุตทุก ๆ 100 ปี นักวิทยาศาสตร์ของนาซาจึงทำนายว่า “มันฝรั่งอวกาศ” ลูกนี้จะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 50 ล้านปี กว่าจะพุ่งเข้าชนดาวอังคารในที่สุด 

ที่มา : livescience.com

เครดิตภาพ : Instagram / NASA (NASA/JPL-Caltech/University of Arizona)