สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากเมืองต้าเหลียน ประเทศจีน เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ว่า อินโดนีเซียกำลังปฏิรูปขั้นตอน การใบอนุญาตต่าง ๆ ให้เป็นระบบดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมระดับนานาชาติ

“งานดนตรีและกีฬา มองว่าอินโดนีเซียเป็นตลาดที่ดี แต่พวกเขาหันหลังกลับเพราะต้องจัดการกับระบบราชการ, ข้อบังคับที่เข้มงวด และขั้นตอนต่าง ๆ ก่อนจะจัดงานได้” อูโนกล่าวในการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก “เวิลด์ อีคอนอมิก ฟอรัม” ฤดูร้อน ที่เมืองต้าเหลียน ประเทศจีน พร้อมย้ำถึงความจำเป็น ในการให้เพิ่มยืดหยุ่นเพื่อดึงดูดงานเทศกาลใหญ่ระดับโลก

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย กล่าวว่า กระบวนการราชการที่ซับซ้อน ในการขออนุญาตจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะคอนเสิร์ต จะต้องถูกตำหนิ เพราะมันได้ทำให้อินโดนีเซียพลาดการเป็นเจ้าภาพจัดการแสดงคอนเสิร์ตระดับนานาชาติมากมาย รวมถึงกรณี “เทย์เลอร์ สวิฟต์” ที่ไปจัดคอนเสิร์ตในสิงคโปร์

CNA

นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าอินโดนีเซีย 11.7 ล้านคน เมื่อปี 2566 มีการใช้จ่ายต่อคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 40-50 ขณะที่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวในรายงานในเดือนนี้ว่า เศรษฐกิจของอินโดนีเซียอาจเติบโตในอัตราที่มั่นคงภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.1 ต่อปีตั้งแต่ปี 2567-2569

นอกจากนั้น รัฐมนตรีของอินโดนีเซีย กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสู่ประเทศสีเขียวและงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาการบริโภคภายในประเทศ อูโน ระบุเพิ่มเติมว่า อินโดนีเซียต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง เขาเชื่อว่า การลงทุนในการเชื่อมต่อสำคัญต่อการดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเป็นอย่างยิ่ง “ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เราสามารถสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่กว้างขวาง ทั่วสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ได้ แต่เราต้องทำมากกว่านี้”

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ยังเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของอินโดนีเซีย ที่มีขนาดใหญ่ติด 3 อันดับแรกของโลก และมีสัดส่วนร้อยละ 8 ของจีดีพี “เรากำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” อูโนกล่าว “สิ่งที่เราต้องทำคือการเพิ่มทักษะ, ปรับปรุงทักษะ และค้นหาทักษะใหม่ ๆ เพื่อสร้างความสมดุลทางดิจิทัล”

อุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของอินโดนีเซีย ประกอบด้วยแฟชั่น, งานฝีมือ และศิลปะการทำอาหาร ตลอดจนรีสอร์ทบนเกาะบาหลี ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ มีความจำเป็นต้องกระจายนักท่องเที่ยวไปทั่วพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ทางตอนใต้ ซึ่งมีความแออัดมากขึ้นเรื่อย ๆ “เรากำลังสร้างโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ต่าง ๆ ของบาหลี เพื่อเชื่อมต่อระหว่างกัน” เขากล่าวเสริม

เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นนอกจากเกาะบาหลี อินโดนีเซียกำลังเร่งพัฒนาจุดหมายปลายทางอีก 5 แห่ง ได้แก่ ทะเลสาบโทบา ในจังหวัดสุมาตราเหนือ, โบโรบูดูร์ ในจังหวัดชวากลาง, มันดาลิกา บนเกาะลอมบอก ในจังหวัดนูซาเติงการาตะวันตก, ลาบวนบาโจ ในจังหวัดนูซาเติงการาตะวันออก และลิกูปัง ในจังหวัดสุลาเวสีเหนือ รวมไปถึงการผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ของอินโดนีเซีย เช่น แฟชั่นและการทำอาหาร ได้รับการนำเสนอสู่สายตาชาวโลกอย่างเหมาะสม.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES