สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงซูเกร ประเทศโบลิเวีย เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ว่าประธานาธิบดีลุยส์ อาร์เซ ผู้นำโบลิเวีย กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถควบคุมความสงบเรียบร้อยได้แล้วทั้งหมด และปฏิเสธรายงานของสื่อทั้งในและต่างประเทศ ว่ารัฐบาล “สมคบคิด” กับพล.อ.ฮวน โฮเซ ซูนิกา ที่ตอนนี้กลายเป็นประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมแห่งชาติไปแล้ว หลังถูกจับกุมจากความพยายามรัฐประหาร โดยอาร์เซกล่าวว่า “มีเพียงคนสติไม่ดีเท่านั้นที่จะสร้างเรื่องยึดอำนาจตัวเอง เพียงเพื่อหวังความนิยม”


ขณะที่นายเอดูอาร์โด เดล กัสตีโญ รมว.มหาดไทยโบลิเวีย กล่าวว่า จนถึงตอนนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจับกุมกลุ่มผู้พยายามก่อรัฐประหาร เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ได้แล้ว 17 คน มีทั้งทหารและพลเรือน รวมถึงพล.อ.ซูนิกา และพล.ร.อ.ฮวน อาร์เนซ ซัลวาดอร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งถูกปลดออกจากตำแหน่งแล้วเช่นกัน และกำลังเร่งติดตามจับกุมผู้ต้องสงสัยอีกคนหนึ่ง โดยยังไม่มีการเปิดเผยว่าเป็นใคร

ชาวโบลิเวียถือแผ่นป้ายข้อความ ประณาม พล.อ.ฮวน โฮเซ ซูนิกา และเรียกร้องการเคารพประชาธิปไตย ในเมืองลาปาซ


ทั้งนี้ หากศาลพิพากษาว่ามีความผิดจริง พล.อ.ซูนิกา และพล.ร.อ.ซัลวาดอร์ อาจต้องรับโทษจำคุกเป็นเวลานานสูงสุดถึง 20 ปี จากการเป็นผู้นำ “การก่อการร้าย” และ “การลุกฮือทางอาวุธ”


ด้านสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และนานาประเทศ รวมถึงบราซิล สเปน และรัสเซีย ประณามการรัฐประหารครั้งนี้ ซึ่งจะยิ่งเป็นการสร้างความแตกแยกทางการเมืองในโบลิเวีย จากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสนับสนุนอาร์เซ กับฝ่ายสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีอีโว โมราเลส ซึ่งเป็นนักการเมืองชาติพันธุ์คนแรก ที่ชนะการเลือกตั้งผู้นำโบลิเวีย แต่การที่โมราเลสลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 4 เมื่อปี 2562 จุดชนวนให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ จนท้ายที่สุดโมราเลสยอมลาออก และลี้ภัยไปยังต่างประเทศ


แม้โมราเลสเดินทางกลับ หลังอาร์เซชนะการเลือกตั้ง เมื่อปี 2563 แต่อดีตผู้นำโบลิเวียยังคงไม่หยุดวิพากษ์วิจารณ์ และกล่าวหารัฐบาลหลายเรื่อง รวมถึงการกลั่นแกล้งทางการเมือง จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญโบลิเวียตัดสิทธิโมราเลส จากการลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ในปี 2568 แต่อาร์เซยังไม่แสดงท่าทีชัดเจน ว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งหรือไม่.

เครดิตภาพ : AFP