สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ว่าช้างแคระบอร์เนียวกำลังเผชิญกับภาวะใกล้สูญพันธุ์ โดยหน่วยงานอนุรักษ์โลกรายงานว่า พวกประชากรของพวกมันในป่า เหลือเพียงประมาณ 1,000 ตัว

สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการจัด “บัญชีแดง” สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ระบุในการปรับปรุงบัญชีแดงว่า “จำนวนประชากรช้างบอร์เนียวลดลงในช่วง 75 ปีที่ผ่านมา มีสาเหตุมาจากการตัดไม้ทำลายป่าบนเกาะบอร์เนียว ซึ่งเป็นการทำลายถิ่นที่อยู่ของพวกมัน” พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า “ประชากรมนุษย์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในรัฐซาบาห์ ของมาเลเซีย ส่งผลให้ช้างหากินในพื้นที่ของมนุษย์บ่อยขึ้น พวกมันสร้างความเสียหายให้กับพืชผล และถูกฆ่าในที่สุด”

ไอยูซีเอ็นเตือนว่า การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของช้าง ผ่านการเพาะปลูกน้ำมันปาล์ม, ฟาร์มป่าไม้และเหมืองแร่ คุกคามสายพันธุ์ของพวกมัน รวมไปถึงแผนสร้างทางหลวงบอร์เนียว ที่มีความเสี่ยงต่ออนาคตของช้างบอร์เนียว

ตามรายงานขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) ช้างบอร์เนียวสูงประมาณ 8-10 ฟุต (ราว 2.44-3 เมตร) ต่างจากในเอเชียแผ่นดินใหญ่และเกาะสุมาตรา ตั้งแต่เมื่อประมาณ 300,000 ปีก่อน ช้างแคระบอร์เนียวมีลักษณะเด่นที่ ใบหูใหญ่, หางยาว และงาตรงตามสัดส่วนมากกว่าช้างเอเชียสายพันธุ์อื่น

แม้เชื่อกันว่าช้างสายพันธุ์นี้อาศัยอยู่ในรัฐซาบาห์เป็นหลัก แต่บางครั้งสามารถพบพวกมันได้ตามภูมิภาคกาลิมันตัน ทางตะวันออกของอินโดนีเซีย.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES