เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “THACCA SPLASH-Soft Power Forum 2024” โดยมีคณะรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการฯ รวมถึง สส.พรรคเพื่อไทยให้การต้อนรับ ทั้งนี้ น.ส.แพทองธาร ได้นำนายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิทรรศการภายในงานดังกล่าว ซึ่งแบ่งพื้นที่เป็น 21 จุด 4 โซน 11 พาวิลเลี่ยนจากอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ 11 ด้าน รวมถึงพาวิลเลี่ยน THACCA (Thailand Creative Culture Agency) และพาวิลเลี่ยนซอฟต์พาวเวอร์นานาชาติจากประเทศอิตาลี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้นำด้านซอฟต์พาวเวอร์ที่ส่งออกวัฒนธรรมสร้างสรรค์จนเป็นที่นิยมในระดับนานาชาติ   

ต่อมา เวลา 11.15 น. นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดงานว่า นโยบายซอฟต์พาวเวอร์เกิดจากความตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจของเราเติบโตจากภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ที่มีคนเกี่ยวข้องทำงานอยู่จำนวนมาก ซึ่งงานในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้จำนวนไม่น้อยเป็นแรงงานที่ใช้ทักษะต่ำ และยังต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมีความไม่แน่นอน ส่งผลกระทบไปสู่สถานะทางการเงินของครอบครัว และระดับประเทศ ซึ่งแสดงออกมาเป็นปริมาณหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่สูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น โครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องได้รับการยกระดับจากที่เคยใช้แรงงานทักษะต่ำ ต้องหันไปใช้มันสมองและความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นในยุคดิจิทัล จากภาพรวมดังกล่าว รัฐบาลจึงเล็งเห็นการผลักดันยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ให้เป็นอุตสาหกรรมที่คนไทยทั้งหมดสามารถมีส่วนร่วมได้ด้วยศักยภาพของทุกคนที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรม ฝีมือ และเวทีในการแสดงออก ซึ่งมีเป้าหมายใหญ่ของเราคือ “สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้” เพื่อให้คนไทยอยู่ดีมีสุข และทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญก้าวหน้า 

นายกฯ กล่าวอีกว่า การจัดงานครั้งนี้จึงมุ่งปักหมุดใน 3 สร้าง คือ 1.สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนตระหนักถึงศักยภาพของตัวเอง 2.สร้างเวทีแลกเปลี่ยนระดับนานาชาติ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของไทยผ่านการเรียนรู้จากผู้ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ และ 3.สร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางถึงพลังซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้สื่อสารทุกทิศทางอย่างทรงพลัง เปรียบเสมือนการสาดหรือสแปลช ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ทั้ง 11 สาขา โดยนำความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์กับทุนทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และบริการของไทย เราตั้งเป้าให้เวทีนี้เปิดกว้างสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม ตอบโจทย์ทุกความสนใจ รวมถึงเป็นเวทีแห่งโอกาสในการแลกเปลี่ยนมุมมองกับผู้ที่ประสบความสำเร็จในวงการอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ระดับโลก

จากนั้น น.ส.แพทองธาร กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “นโยบายการขับเคลื่อนและพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไทย” ว่า การจัดงานแทคก้า สแปลช-ซอฟต์ พาวเวอร์ ฟอรั่ม 2024 นี้ เป็นจุดเริ่มสำคัญของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ซึ่งเราจะได้สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความฝัน และโอกาสที่จะปลดปล่อยพลังของคนไทยให้กระจายไปทั่วโลก ซึ่งในงานตลอดทั้ง 3 วันนี้ จะได้พบกับการแสดงวิสัยทัศน์ การแบ่งปันเรื่องราวจากตัวจริงของแต่ละภาคอุตสาหกรรมทั้งในไทยและต่างประเทศ นิทรรศการนโยบายที่จะบอกเล่าเรื่องราวการทำงานและการทำเวิร์กช็อปมาให้เรียนรู้ ที่สำคัญที่สุดคือจะเป็นครั้งแรกที่จะเปิดให้มีการลงทะเบียน “โครงการหนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์พาวเวอร์” เพื่อยกระดับศักยภาพของตัวเองภายในงานนี้

น.ส.แพทองธาร กล่าวต่อว่า ภารกิจเรื่องซอฟต์พาวเวอร์เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลของพรรคไทยรักไทยที่เชื่อเสมอว่าภูมิปัญญา วัฒนธรรมไทย และศักยภาพคนไทยมีมูลค่าสูง สามารถดึงดูดความสนใจจากทั่วโลก ซึ่งในวันนั้นนโยบายที่เป็นรูปธรรมคือ โอทอป หรือหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่สนับสนุนพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานรากของประชาชน 7,000 ตำบลทั่วประเทศ มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงระดับประเทศ และสร้างมูลค่าต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2545 มาจนถึงวันนี้ ไม่น้อยกว่า 2 ล้านล้านบาท แม้ผ่านมาแล้ว 20 ปี นโยบายนั้นสำเร็จ แต่ยังไม่ถึงเป้าหมาย เพราะยังขาดจิ๊กซอว์ที่หายไปจากภาพใหญ่ที่จะทำให้ซอฟต์พาวเวอร์สมบูรณ์ ครั้งนี้เราจึงคิดใหญ่ ตั้งเป้าหมายใหญ่ ตั้งเป้าให้ชัดเจนว่าซอฟต์พาวเวอร์ของไทยจะต้องสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 4 ล้านล้านบาท และยกระดับชีวิตคนไทยทุกครอบครัวให้มีรายได้ไม่น้อยกว่า 200,000 บาทต่อปี สร้างแรงงานทักษะสร้างสรรค์ไม่น้อยกว่า 20 ล้านตำแหน่ง จะต้องมีร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ไม่น้อยกว่า 100,000 แห่ง รวมถึงยิมมวยไทยทั่วโลกจะต้องเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20,000 แห่ง.