จากกรณีที่นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช เขต อ.ปากพนัง ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้จังหวัดนครศรีธรรมราช เร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” ซึ่งในปัจจุบันกลายเป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” หรือสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและทำลายสัตว์น้ำประจำถิ่น ตามแหล่งน้ำธรรมชาติหรือบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร ก่อนหน้านี้มีรายงาน พบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำสร้างปัญหาใน 13 จังหวัดของไทย ประกอบด้วย กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ระยอง ราชบุรี จันทบุรี เพชรบุรี ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรปราการ ชุมพร สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี สงขลา และล่าสุดแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นเป็นจังหวัดที่ 14 คือจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะ 2 อำเภอ คือ อ.ปากพนัง และ อ.หัวไทร จนล่าสุดประมงจังหวัดเตรียมประกาศพื้นที่แพร่ระบาด และดีเดย์กำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่บ่อบำบัดน้ำเสีย 40 ไร่ เป็นปฐมฤกษ์ในวันที่ 14 ก.ค. ที่จะถึงนี้ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากายกอบศักดิ์ เกตุเหมือน ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช นางสาวชอุ่ม สุขช่วย หัวหน้ากลุ่มพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช และนายบุญเยียน รัตนวิชา ผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนังจำกัด นายวรรณไชย แพรกปาน กำนัน ต.ขนาบนาก นายณัฐพงศ์ นาคดำ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 นายอรรถพล ปฐมสุวรรณกุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ต.ขนาบนาก เดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ในบ่อบำบัดน้ำเสียศูนย์พัฒนาประมงพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมากจากพระราชดำริ เนื้อที่รวม 120 ไร่ โดยพบว่ามีปลาหมอคางดำแพร่ระบาดอาศัยอยู่จำนวนมาก ในเบื้องต้นจึงกำหนดกิจกรรมการไล่ล่ากำจัดปลาหมอคางดำเป็นปฐมฤกษ์ โดยกันพื้นที่จาก 120 ไร่ ออกมา 40 ไร่ ในวันที่ 14 ก.ค. นี้ โดยสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนังจำกัด สนับสนุนงบประมาณดำเนินการ 23,000 บาท ท่ามกลางความดีใจของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก

นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช เขต อ.ปากพนัง กล่าวว่า การที่ตนออกมาเรียกร้องให้จังหวัดเร่งประกาศเขตภัยพิบัติปลาหมอคางดำ แต่มีแนวโน้มว่าจังหวัดจะมีการประกาศเขตแพร่ระบาดเท่านั้น ซึ่งไม่เกิดผลในทางปฏิบัติมากนัก เพราะหลักใหญ่ที่เป็นปัญหามากที่สุด คือเรื่องงบประมาณในการดำเนินการไล่ล่ากำจัด “เอเลี่ยนสปีชีส์” จากต่างแดนให้หมดไปจากพื้นที่โดยเร่งด่วนที่สุด และทราบดีว่ากรมประมงไม่มีงบประมาณดำเนินการเพียงพอ ต้องรองบประมาณจากรัฐบาล ในขณะที่สถานการณ์น่าเป็นห่วง เพราะในแหล่งน้ำธรรมชาติ และบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้งของเกษตรกรในพื้นที่ โดนปลาหมอคางดำรุกเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เปิดบ่อหวังจับปลา กุ้ง ที่เลี้ยงกัน พบแต่ปลาหมอคางดำเต็มบ่อ ขาดทุนย่อยยับป่นปี้ เพราะในบ่อลูกกุ้ง ปลา ถูกปลาหมอคางดำกินเกลี้ยง

หากล่าช้า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้ น้ำท่วม น้ำหลากเต็มพื้นที่ ปลาหมอคางดำก็จะแพร่กระจายไปกว้างขวางมากยิ่งขึ้น จะยิ่งยากแก่การวางแผนกำจัด อาจจะต้องใช้งบประมาณมากกว่าเดิมหลายสิบเท่า เรื่องนี้ทางประมงจังหวัด และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องแทบไม่ต้องคิดอะไรมากเลย แค่ประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉิน เพื่อให้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 2 อำเภอ ปากพนัง หัวไทร เขาสามารถใช้เป็นกรอบในการพิจารณาสนับสนุนงบประมาณกำจัดปลาหมอคางดำได้ ซึ่งมีแต่ผลดีไม่มีความเสียหายอะไรเลย หากรองบประมาณจากรัฐบาลกลาง “กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้” ไปหมดแล้ว

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ตอนนี้ตนได้รับการนร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลาใน อ.ปากพนัง และ อ.หัวไทร หลายรายว่าเมื่อถึงวันจับกุ้ง จับปลา ที่เลี้ยงไว้ พบว่าในบ่อเต็มไปด้วยปลาหมอคางดำ แทบไม่มีกุ้ง ปลาเหลืออยู่เลย หรือเหลือน้อยมาก ๆ อาหารที่ใช้เลี้ยงปลา ระยะเวลา 3-4 เดือน แต่ถูกปลาหมอคางดำกินจนหมด มันเป็นมหัตภัยร้ายแรงกับเกษตรกร โดยในวันที่ 1 ก.ค. 67 ทางสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนังจำกัด จะเชิญสมาชิกมาร่วมประชุมเพื่อกำหนดมาตรการ วิธีการ ขั้นตอนที่จะร่วมกันกำจัดปลาหมอคางดำในวันดีเดย์ 14 ก.ค. นี้ และหลังจากวันดีเดย์กำจัด “เอเลี่ยนสปีชีส์” จากต่างแดนในพื้นที่ 40 ไร่แล้ว ต่อไปจะทำอย่างไร จะหางบประมาณจากที่ไหนมาจัดกิจกรรมในครั้งต่อไป

“…ตนขอกราบวิงวอนประมงจังหวัด เสนอเอกสารให้ทางผู้ว่าฯ เซ็นอนุมัติประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉิน “ปลาหมอคางดำ” โดยเร็ว เพราะมันเกิดขึ้นทุกวัน ทุกเวลา การเร่งกำจัดเป็นวิธีการเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้ชาวประมงปากพนังรอดตาย อย่ารอให้เข้าไอซียูจึงจะเริ่มรักษา ถึงช่วงนั้นอาจจะหมดหนทางรักษา เยียวไปแล้ว อย่าปล่อยให้ชาวประมงตายอย่างเขียดเลยครับ…” นายไพโรจน์ กล่าว