นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงคมนาคม กรณีทีมประชาสัมพันธ์ส่งข่าวแจกระบุว่า รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะเลื่อนดำเนินการไปเป็นปี 69 เพื่อรอตั๋วร่วม โดยนายสุริยะ ยืนยันว่ากระทรวงคมนาคม คงเป้าหมายนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย กับรถไฟฟ้าที่ให้บริการในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทุกสายให้ได้ภายใน 2 ปี หรือประมาณเดือน ก.ย. 68

หลังจากประกาศนโยบายฯ เริ่มนำร่องกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชนเมื่อเดือน ก.ย. 66 ซึ่งจะครบ 2 ปี ในเดือน ก.ย. 68 กำลังเร่งผลักดันเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้มีผลใช้บังคับภายในปี 68 พร้อมจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วมสนับสนุนนโยบายและลดข้อจำกัดจากสัญญาสัมปทานเดิม

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า จากการประเมินตัวเลขเบื้องต้น ต้องใช้เงินชดเชยรายได้ให้กับผู้ประกอบการรถไฟฟ้าทุกสายประมาณ 8 พันล้านบาท โดยเงินส่วนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะต้องนำมาจากส่วนใดบ้าง อาทิ งบประมาณประจำปี, รายได้จากการเก็บค่าโดยสารของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกองทุนอนุรักษ์พลังงาน

ยืนยันว่าจะผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นจริงเป็นรูปธรรมได้ โดยรถไฟฟ้าที่ยังติดเงื่อนไขสัญญาสัมปทาน จะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปจากการเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ส่วนรถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดนี้ทุกสายต้องระบุในสัญญาสัมปทานว่าต้องเก็บค่าโดยสารอัตรา 20 บาทตลอดสายด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจาก 17-45 บาท เป็น 17-47 บาท โดยไม่ชะลอไปก่อน เป็นการย้อนแย้งกับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรัฐบาลหรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่า การปรับขึ้นเป็นไปตามสัญญาสัมปทานระหว่าง รฟม. กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งปรับขึ้นทุก 2 ปี จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามสัญญาสัมปทาน

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าที่ให้บริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มี 8 สาย ได้แก่ สายสีเขียว ประกอบด้วย สายสุขุมวิท ช่วงคูคต-เคหะ และสายสีลม ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า, สายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ, สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี, สายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง, สายสีทองช่วงกรุงธนบุรี-คลองสาน, รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์(ARL) ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ ดำเนินการตามนโยบายฯ ไปแล้วกับสายสีแดงและสีม่วง

จากข้อมูลตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 66 จนถึงวันที่ 31 พ.ค. 67 หรือประมาณ 7 เดือนครึ่ง พบว่าปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยรวม 2 สาย 20.86 ล้านคน เพิ่มขึ้น 17.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 66 (16 ต.ค. 65-31 พ.ค. 66) ผู้โดยสารอยู่ที่ 17.68 ล้านคน โดยสายสีแดง 6.21 ล้านคน เพิ่มขึ้น 27.61% ส่วนสายสีม่วง 14.29 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11.53% การเพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการ ส่งผลให้การสูญเสียรายได้ของทั้ง 2 สายลดลงจากที่คาดการณ์ว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 300 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่าช่วงกลางปี 68 หรือประมาณเดือน มิ.ย. 68 จะดำเนินการตามนโยบายได้เพิ่มอีก 3 สายรถไฟฟ้าสีน้ำเงินสีชมพูและสีเหลือง ส่วนที่เหลือ 3 สาย สีเขียว สีทอง และ ARL จะเริ่มได้ตามนโยบายในเดือน ก.ย. 68.