เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. กล่าวถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่ออกมาเป็นเอกสารว่าคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบและให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ออกจากราชการเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย ยอมรับว่าได้มีการแถลงให้ที่ประชุม ก.ตร. รับทราบถึงที่ไปที่มาและเหตุผลในการออกคำสั่งดังกล่าว ก่อนที่จะออกมาด้านนอกและให้ในที่ประชุมได้ลงมติดังกล่าว

ทั้งนี้ภายหลังจากทราบผล ตนเองรู้สึกว่าในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทน ตนเองทำหน้าที่ด้วยความสุจริตใจ ซึ่งช่วงเวลานั้นใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบ โดยในช่วงเวลาดังกล่าว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ถูกศาลออกหมายจับ และไม่รับหมายเรียก ซึ่งในขณะที่พนักงานสอบสวนไปขอศาลออกหมายจับ องค์คณะผู้พิพากษาได้นำเรื่องพฤติการณ์ทางคดีและพยานหลักฐานต่างๆ ไปพิจารณา โดยเวลาพิจารณานานเกือบ 1 วัน และยืนยันว่าทำไปด้วยความสุจริตใจ ไม่ได้ต้องการขัดแข้งขัดขาอย่างที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ตั้งข้อสังเกต ตนไม่ได้มีความดีใจหรือเสียใจแต่ผลการพิจารณาเป็นไปตามเหตุผลและการอภิปรายของตนเองและในที่ประชุมของคณะกรรมการ เป็นความรู้สึกปกติที่ว่านี่คือผลออกมาจากการพิจารณา ออกคำสั่งของตนเองที่ออกไปตามข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ตามความร้ายแรงที่เกิดขึ้น เพราะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน

เมื่อถามว่ารองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสบายใจขึ้นหรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ตนเองไม่ได้สบายใจขึ้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่แรก แต่ต้องตัดความสบายใจหรือไม่สบายใจออกไปตั้งแต่แรกในการออกคำสั่งและปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ตนเองมองว่า ตนเองไม่สบายใจในเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการปฏิบัติหน้าที่ของการปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติดในวันนี้มากกว่า ซึ่งใจตนเองอยากให้ปัญหาความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติหายไป เพื่อให้ข้าราชการตำรวจทุกนายสบายใจ ประชาชนสบายใจและดูแลทุกภาคส่วนได้ดีมากขึ้น มองว่าหากปัญหาดังกล่าวหายไป ตนเองจะสบายใจมากขึ้น

“โดยในขั้นตอนหลังจากนี้ อยู่ที่ ก.พ.ค.ตร.จะพิจารณาดำเนินการต่อไป ซึ่งภายหลังจากที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ทำอุทธรณ์ไปถึง ก.พ.ค.ตร. ตนเองก็ได้ทำคำแก้อุทธรณ์ของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ส่งไปให้ทางคณะกรรมการแล้ว และเชื่อว่าคณะกรรมการอาจจะนำผลการพิจารณาของอนุกรรมการ ก.ตร. วินัย และผลการลงมติ ก.ตร. ไปพิจารณาด้วย แต่ตามขั้นตอนแล้ว หากผลของ ก.พ.ค.ตร. ออกมาไม่เป็นผลดีต่อ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็เชื่อว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ คงจะไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองในขั้นสุดท้าย” รอง ผบ.ตร. กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ บอกว่าหากผลของ ก.พ.ค.ตร. ออกมาไม่เป็นบวกกับตัวเองจะฟ้องร้องเอาผิดทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ก็มองว่าเป็นสิทธิที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ สามารถทำได้ และเป็นธรรมดาที่ตำรวจจะโดนฟ้องจากผู้จับกุม ผู้ที่ถูกตรวจค้น แต่หากทำด้วยความสุจริตใจ และไม่ได้มีเจตนาใดแอบแฝง ซึ่งตนเองไม่ได้มีเจตนาใดๆ มองว่าตนเองสามารถตอบและชี้แจงต่อหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ได้ ส่วนที่ตนเองเซ็นคำสั่งมีฝ่ายกฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายให้คำแนะนำ โดยวิธีการตีความข้อกฎหมาย มองว่าไม่ควรตีความกฎหมายเพียงมาตราใดมาตราเดียว แต่ต้องพิจารณาร่วมกัน และร่วมกับพฤติการณ์การกระทำความผิดของผู้ที่ต้องวินัย

“ยกตัวอย่างว่าหากมีตำรวจถูกจับคดียาเสพติดซึ่งหน้า แบบคาหนังคาเขา ก็ต้องให้ออกจากราชการทันที แต่หากหยุดไว้ก่อนให้ทำงานและรอคณะกรรมการสอบสวนเสนอแนะก่อน ก็ตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ประชาชนจะมองอย่างไร ขายยาโจ่งแจ้งอย่างนี้ยังจะให้รับราชการอีกหรือ นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างว่ามีการตั้งคณะกรรมการวินัยร้ายแรง แต่ก็ยังไม่ให้ออกจากราชการ เช่น ตำรวจนายหนึ่งละทิ้งราชการนาน 15 วัน แต่ก็ยังไม่ให้ออกจากราชการ แต่ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบว่าเกิดจากอะไร แต่หากข้าราชการตำรวจนายนี้ไม่มาทำงานและยังมีปฏิกิริยาที่แทรกแซง ข่มขู่หรือกระทำด้วยประการใดๆ ที่ทำให้การสอบสวนไม่เป็นธรรม ไม่เป็นกลาง พนักงานสอบสวนและคณะกรรมการก็สามารถเสนอความเห็นให้ออกจากราชการได้ แต่ยอมรับว่าได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว” รอง ผบ.ตร. กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ให้สัมภาษณ์ว่าที่ประชุม ก.ตร.วานนี้ มีแต่คณะกรรมการที่อยู่ฝ่ายหรือเป็นลูกน้องของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เรื่องนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ คงมองว่าไม่เป็นธรรม พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ก็สามารถร้องเรียนและขอความเป็นธรรมได้ ซึ่งเป็นสิทธิ แต่การฟ้องร้องขอให้มีข้อมูลและเหตุผลเพียงพอ เพราะไม่เช่นนั้นผู้ถูกฟ้องก็คงต้องดำเนินการตามกฎหมายกลับไปเหมือนกัน แต่สำหรับตนเองไม่ได้วิตกกังวลอะไร เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็ทำหน้าที่ป้องกันปราบปรามต่อไป ซึ่งเป็นมุมมองความคิดที่ขยายออกไปได้ แต่ตนเองได้ให้เหตุผลไปแล้ว

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวอีกว่า ภายหลังจาก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับมาปฏิบัติราชการแล้ว ก็ได้มีการทักทายกันตามปกติและได้ทำงานร่วมกัน ก็มีการทักทายกัน ปรึกษางานกันตามปกติไม่มีอะไร ส่วนใหญ่เป็นเรื่องนโยบายเกี่ยวกับการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชน

ส่วนที่มีกระแสข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่าจะมีนายตำรวจใหญ่ ย้ายไปสังกัดปลัดกระทรวงมหาดไทย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า เรื่องนี้ยืนยันว่า ไม่ว่าจะมีการทาบทามหรือไม่ ตนเองก็จะไม่ไปเพราะจะเกษียณราชการในหน้าที่ตำรวจ เพราะรักในอาชีพนี้

เมื่อถามถึงกระแสข่าวที่ว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ จะทิ้งตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ทราบข่าวจริงๆ แต่เชื่อว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับมาก็ทำงานของตนเอง ส่วนเรื่องอื่นเชื่อว่าท่านจะต้องไปพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรมเอง ส่วนที่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ามีการมอบหมายให้ไปประชุมเหล่าทัพ หรือแม้แต่การประชุมปฏิบัติการวันนี้นั้น การประชุมเหล่าทัพมีการมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรไว้นานก่อนแล้ว ส่วนการเปิดปฏิบัติการวันนี้ ตนเองเป็นผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ก็ต้องมาประชุมเอง และมีการมอบหมายไว้แล้ว ยืนยันว่าไม่มีอะไรและทำงานกันได้อย่างปกติ

ส่วนการประชุม ก.ตร. วานนี้ มีจังหวะหนึ่งที่นายกรัฐมนตรี ได้เดินมาตบไหล่เบาๆ นั้น เป็นการส่งสัญญาณอะไรหรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า เป็นการทักทายตามปกติไม่มีอะไร เพราะตนเองก็เพิ่งพ้นจากหน้าที่รักษาการ ผบ.ตร. และในช่วง 3 เดือนก็ได้ทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีอย่างใกล้ชิด และเป็นวันแรกที่นายกรัฐมนตรีเข้ามาหลังจากที่ตนเองพ้นหน้าที่รักษาการ ก็คงเป็นการทักทายตามปกติ.