ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี นางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางสาวปาริชาต สุนทรารักษ์ อุปนายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) และสื่อมวลชน ร่วมงานแถลงข่าว “การจัดตั้งองค์กรจัดการจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ จังหวัดเพชรบุรี”

นางวันเพ็ญ ร่วมลงนาม MOU บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การจัดตั้งองค์กรจัดการจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ จังหวัดเพชรบุรี”(Carbon Neutral Tourism Destination Management Organization Model for Phetchaburi Province) ระหว่าง จังหวัดเพชรบุรี กับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภาคการท่องเที่ยว กิจกรรมการท่องเที่ยวและการจัดงาน โดยมีการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งเพชรบุรี นับเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการต่อยอดพัฒนาเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ด้วยระยะทางที่ตั้งที่เหมาะสม การมีผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยว ชุมชน แหล่งท่องเที่ยว และทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย มีเรื่องราวด้านอาหารที่โดดเด่น พร้อมด้วยวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการยกระดับการพัฒนาให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยวคุณภาพและเกิดองค์กรที่แข็งแกร่ง ภายใต้แนวคิดดังกล่าว โดยจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism) ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ภายใต้รูปแบบองค์กรจัดการจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism Destination Management Organization) ในการรองรับนักท่องเที่ยวไทยและระดับนานาชาติ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาดและยกระดับการท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบุรี สู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวและการจัดงานคุณภาพสูง สำหรับตลาดท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ (Business Travel) และการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน (Leisure Travel) ในระดับสากล เพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์และบริการด้านการท่องเที่ยว รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้เพิ่มขึ้น และกระตุ้นเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในภาพรวมของจังหวัดเพชรบุรี ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน