ซึ่งเป็นการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดระหว่างเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าและผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรง แต่อาศัยสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าในการจ่ายกระแสไฟฟ้า ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน เคาะมาตรการออกมา

สาเหตุ!!! สำคัญที่ทำให้ “เศรษฐา” เร่งออกมาตรการนี้ออกมา ตั้งแต่ “เศรษฐา” สวมบทเป็น “เซลส์แมนของประเทศ” เดินสายดึงนักลงทุนทั่วโลกเข้ามาลงทุนในไทย คำถามที่เจอบ่อยที่สุด และถูกเรียกร้องมากที่สุด คือ ประเทศไทย มีพลังงานสะอาดเพียงพอให้ใช้หรือไม่ เพราะกำลังเป็นเทรนด์ของโลก ที่กำลังมุ่งไปสู่ประเด็นนี้ กลัวว่า หากหอบเม็ดเงินมหาศาลมาลงทุนแล้ว กลัวจะไม่มีไฟฟ้าสะอาดใช้ จนเมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา ในการประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.พะเยา “เศรษฐา” ได้สั่งการด่วนให้กระทรวงพลังงาน เร่งจัดทำมาตรการเพื่ออนุญาตและส่งเสริมให้เอกชนสามารถทำสัญญาซื้อขายไฟกันโดยตรง กับผู้ผลิตพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน และเสนอกพช. โดยเร็ว

เพราะรัฐมนตรีการค้า สหรัฐอเมริกา นำคณะนักธุรกิจที่ปรึกษาการส่งออกของประธานาธิบดีมาหารือร่วมกับรัฐบาลไทย เพื่อร่วมมือ โดยเฉพาะการลงทุน หนึ่งในประเด็นสำคัญ คือ ต้องการความชัดเจนด้านพลังงานทดแทน เรื่อง Direct PPA ซึ่งไทยรับปากว่า จะมีมาตรการชัดเจนก่อนสิ้นปีนี้ รวมถึงนักลงทุนจาก กูเกิล ไมโครซอฟท์ และแอมะซอน ที่เรียกร้องเงื่อนไขชัดเจนว่า หากจะเข้ามาลงทุนดาต้า เซ็นเตอร์ ในไทย ต้องมีปริมาณไฟฟ้าสะอาดจำนวนมากให้ใช้อย่างเพียงพอ จึงต้องการให้ไทยออกใบอนุญาต ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตเอกชนโดยตรง หรือที่เรียกว่า ระบบ Direct PPA ไม่เช่นนั้นจะไปลงที่ประเทศอื่น

ล่าสุด “ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ” ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ออกมาแถลงความชัดเจนในเรื่องนี้ว่า ที่ประชุมกพช. เห็นชอบแนวทางโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA) ให้แก่บริษัทชั้นนำของโลกที่รัฐบาลได้เชิญชวนไว้และสนใจเข้ามาลงทุนโดยเฉพาะในด้าน Data Center ที่มีความต้องใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามข้อกำหนดจากบริษัทแม่ และเป็นหนึ่งในแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งเป็นไฟฟ้าสะอาดที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ทั้งนี้ได้เห็นชอบกรอบการดำเนินการในปริมาณไม่เกิน 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ต้องมีลักษณะเป็นการลงทุนขนาดใหญ่มีการดำเนินการที่เท่าเทียมกันในทุกประเทศที่ไปลงทุน และไม่มีการขายไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน (พน.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ศึกษาผลกระทบจากการดำเนินการโครงการนำร่อง Direct PPA ผ่านการขอใช้บริการ TPA ต่อสถานภาพของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งและผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรม

พร้อมทั้งมอบหมายให้ กกพ. จัดทำอัตราค่าบริการ TPA ให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 โดยให้ครอบคลุมค่าบริการต่าง ๆ เช่น 1. ค่าบริการระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้า (Wheeling Charge) 2. ค่าบริการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า 3. ค่าบริการความมั่นคงระบบไฟฟ้า 4. ค่าบริการหรือค่าปรับในการปรับสมดุลหรือบริหารปริมาณไฟฟ้า 5. ค่าใช้จ่ายเชิงนโยบาย และค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในภาพรวมทั้งประเทศ และสอดรับกับข้อเสนออัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (UGT) ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ และให้นำเสนอ กบง. พิจารณาเห็นชอบก่อนดำเนินการต่อไป

เรื่องนี้เอง “พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะคนกำกับดูแล กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้กกพ.จะต้องนำข้อมูลเกี่ยวกับมติดังกล่าวมาวางแผนจัดทำระเบียบรองรับการดำเนินการให้ถูกต้องเหมาะสม ทั้งเรื่องการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม, การออกข้อกําหนดเกี่ยวกับการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่ซื้อขายระหว่างกัน และการกำหนดอัตราค่าบริการสายส่งไฟฟ้า จะต้องหารือร่วมกับ การไฟฟ้าฯ ให้เกิดความชัดเจนในหลักเกณฑ์การปฏิบัติและต้องปลอดภัย โดยเรื่องนี้จะต้องทำให้เกิดความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้

“Direct PPA ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล เพื่อเตรียมความพร้อมดึงดูดเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติ โดยแสดงความพร้อมของประเทศไทยในการส่งเสริมความต้องการใช้ไฟฟ้าสะอาด (RE 100) รองรับการตัดสินใจย้ายฐานธุรกิจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่น ธุรกิจ Data Center ที่มีความต้องการใช้ RE 100 เป็นต้น”

ถามว่า ใครจะได้หรือเสียกับเรื่องนี้ หากมองในภาพรวม แน่นอนว่า จะช่วยทำให้ไทยมีแต้มต่อในการดึงดูดนักลงทุนระดับโลก ขนเงินมาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันนักลงทุนระดับโลก ที่มาลงทุนในไทย จะเชื่อมั่นประเทศไทย จะมีพลังงานสะอาดใช้ในการผลิตธุรกิจของตัวเอง

แต่ผู้รับบทหนักจะเป็น “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” หรือกฟผ. เพราะต้องบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะต่อไปกลายเป็นว่า ภาคเอกชน ภาคประชาชน จะผลิตไฟฟ้าใช้กันเอง หากกฟผ.ผลิตไฟสำรองสูงเกินกว่าความจำเป็นเกินไป สุดท้ายต้นทุนต่าง ๆ จะถูกผลักมาให้ประชาชนในรูปแบบ ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) อยู่ดี รวมทั้งต้องติดตามราคาค่าไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ที่ภาคเอกชนจะซื้อขายกันเอง จะสูงกว่าราคาค่าไฟฟ้าปัจจุบันเท่าไร อย่างไร แล้วภาคเอกชน จะคำนวณเป็นต้นทุนค่าผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้น แล้วผลักภาระมาให้ประชาชนหรือไม่ อย่างไร???

เรื่องราวทั้งหมดนี้ ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด เพื่อรอคำตอบที่ชัดเจน!!!.