นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมกับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที เพื่อมอบนโยบายแนวทางการดำเนินงาน ให้คณะกรรมการ (บอร์ด)และผู้บริหารระดับสูง  ว่า   หลังจากกรณีที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก  หรือ Cloud First Policy นั้น  ทาง บอร์ด Cloud First Policy จะเข้ามากำหนดราคากลางการจัดซื้อจัดจ้างคลาวด์ สำรวจความต้องการใช้งานคลาวด์และการกำหนดราคากลาง สำหรับหน่วยงานภาครัฐ  เพื่อต่อยอดการทำงานที่เพิ่มประสิทธิภาพสอดคล้องกับนโยบาย Cloud First เพื่อให้เป็นคลาวด์กลางภาครัฐที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ คลาว์ดกลางภาครัฐ หรือ GDCC  ของรัฐบาลได้ลงทุนเบื้องต้นไปแล้วประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท และในปี 67 มีการลงทุนเพิ่มอีก 6,000 ล้านบาท

ประเสริฐ จันทรรวงทอง

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ประธานบอร์ด เอ็นที กล่าวว่า หน่วยงานภาครัฐมีความต้องการใช้งานคลาว์ดมากขึ้นเรื่อยๆ ทางเอ็นทีก็จะทำหน้าที่ส่งเสริมการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก บริหารจัดการความต้องการใช้คลาวด์ (Demand) บริหารจัดการให้มีบริการคลาวด์อย่างเพียงพอ (Supply) โดยมีการ การประเมินจากหลายหน่วยงานคาดว่ามูลค่าตลาดคลาวด์ภาครัฐในอีก 5 ปีจะมีมูลค่ามากถึง 100,000 ล้านบาท ทางสภาพัฒน์ฯ ก็มองว่าความต้องการใช้งานของรัฐจะมีมากถึง 500,000 วีเอ็มด้วย  ซึ่ง ขอให้เอ็นทีช่วยในการหาลูกค้าภาครัฐมาใช้งาน ถ้าได้ส่วนแบ่งตรงนี้ 30% ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์

ด้าน พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็นที กล่าวว่า เอ็นที พร้อมรองรับนโยบาย Go Cloud First โดยได้มีการจัดหาทรัพยากรด้านการประมวลผล (Computing Resource) ให้กับภาครัฐในรูปแบบการให้บริการ Cloud Service รองรับหน่วยงานรัฐให้เข้าถึงทรัพยากรด้านคลาวด์ด้วยมาตรฐานสากล พร้อมกับนำเทคโนโลยีใหม่ ที่ทันสมัยมาเพิ่มพื้นที่การจัดเก็บข้อมูลภาครัฐ รวมถึงได้เพิ่มบริการ Market Place บน GDCC เพื่อรองรับการให้บริการแพลตฟอร์มไอที แอปพลิเคชันใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“ปัจจุบัน NT Cloud Service ได้ให้บริการลูกค้าภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน มากกว่า 1,700 ราย มี Workloads มากกว่า 5,000 workload โดยมองว่ารายได้จากคลาวด์อยู่ที่ 12% ของรายได้รวม หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท ดังนั้น หากรายได้จากคลาวด์ภาครัฐที่อยู่ 100,000 ล้านบาทใน 5 ปี เอ็นทีมีส่วนแบ่งทางการตลาด อยู่ที่ 30% ก็าจะมีรายได้ปีละ 30,000 ล้านบาท ก็จะชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากธุรกิจโทรศัพท์มือถือได้

สำหรับในส่วนของให้บริการ 5G ได้กำหนดแผนการดำเนินงานแบ่งเป็นโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5G บนคลื่น 700 MHz กำหนดให้มีการสร้างโครงข่าย 4G/5G จำนวน 13,500 สถานีฐาน ครอบคลุมพื้นที่ 95% ของจำนวนประชากร โดยข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ติดตั้งครอบคลุม 60 % ของจำนวนประชากร พร้อมกันนี้ได้ตั้งเป้าให้ปี 2567 มีผู้ใช้บริการ my บนโครงข่าย 700 MHz จำนวน 600,000 เลขหมาย สำหรับโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5G บนคลื่น 26 GHz อยู่ระหว่างการหาพันธมิตรเพื่อร่วมกันทำโซลูชั่นเพื่อเสนอบริการ 5G Private Network แก่ลูกค้าองค์กร

พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์

  ทั้งนี้ทิศทางการดำเนินธุรกิจในรูปแบบร่วมลงทุนกับพันธมิตร NT ได้ร่วมกับบริษัท OneWeb Network Access Holdings Limited จัดตั้ง Satellite Network Portals Site Hosting Service ในภูมิภาคอาเซียนเพื่อเป็นสถานีภาคพื้นดินบริหารจัดการดาวเทียมวงโคจรต่ำ โดยตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนากิจการดาวเทียมสื่อสารของประเทศ ควบคู่ไปกับความคุ้มค่าในการลงทุน และจะต้องสอดคล้องกับนโยบายดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ เพื่อให้ความร่วมมือที่เกิดขึ้นสร้างประโยชน์ให้ภาพรวมของประเทศ ทั้งในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสาร สาธารณสุข รวมถึงการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจ และสังคม ซึ่ง NT ในวันนี้พร้อมเป็นองค์กรแห่งชาติที่สามารถเชื่อมต่อเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อคนไทยทุกคน

สำหรับผลการดำเนินงานด้านการเงินตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2567 ว่ามีรายได้รวมทั้งสิ้น 27,929.78 ล้านบาท รายจ่าย 25,672.47 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,257.31 ล้านบาท ดีกว่าแผนซึ่งประมาณการอยู่ที่ขาดทุน 1023.97 ล้านบาท แบ่งตามกลุ่มธุรกิจ ดังนี้ Hard Infrastructure 3,151.07 ล้านบาท International 582.70 ล้านบาท Mobile 15,635.84 ล้านบาท Fixed Line & Broadband 5,913.17 ล้านบาท Digital 916.08 ล้านบาท ICT Solution 578.22 ล้านบาท รายได้อื่น 1,077.36 ล้านบาท และโครงการรัฐ 75.34 ล้านบาท