นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า จากนี้ไปจนถึงก่อนสิ้นปีนี้ รัฐบาลจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนที่จะมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต อย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการประชุม ครม.เศรษฐกิจในสัปดาห์หน้า ซึ่งมาตรการจะมีเป็นอย่างไร ยังไม่สามารถตอบได้ จนกว่า ครม.เศรษฐกิจจะอนุมัติเสียก่อน
“รัฐบาลไม่ได้รอเพียงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่จากดิจิทัลวอลเล็ตที่กำหนดจะให้สิทธิแก่ประชาชนในไตรมาสที่สี่ของปีนี้ แต่ในระหว่างนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ก็ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา”
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ข้อเสนอของกระทรวงการคลัง การรื้อฟื้นกองทุนวายุภักษ์ เพื่อกระตุ้นตลาดทุนในประเทศนั้น จำเป็นต้องหารือในข้อกฎหมายของการจัดตั้งกองทุนในลักษณะที่คล้ายกับกองทุนวายุภักษ์ขึ้นมา ซึ่งกระทรวงการคลังจะดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะเราต้องการมีเงินเติมในระบบตลาดทุนเพื่อให้เกิดการกระตุ้น การหมุนเวียน ตัวกองทุนรูปแบบที่เคยประสบความสำเร็จคือวายุภักษ์ เราอาจมีการพิจารณาตั้งกองทุนอีกสักกอง เป็นกองที่แยกต่างหาก แต่รูปแบบจะเป็นอย่างไรสัดส่วนจะเป็นอย่างไร ต้องมาดู
สำหรับรูปแบบของกองทุนวายุภักษ์ในอดีต มีการแบ่งหน่วยลงทุนของกองทุนวายุภักษ์เป็นสองประเภท คือ ประเภท ก. สำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องการลงทุน ซึ่งประเภทนี้มีมูลค่ากองทุน 1.5 แสนล้านบาท และประเภท ข. เป็นการถือครองหน่วยลงทุนโดยกระทรวงการคลังและหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท โดยในส่วนของหน่วยลงทุนประเภท ก.หรือ กองทุนที่ประชาชนลงทุนนั้น จะกำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำและขั้นสูง ซึ่งเป็นการประกันผลตอบแทนให้กับประชาชน ขณะที่กอง ข.ไม่มีการประกันผลตอบแทน โดย กองทุนประเภท ก. จะได้รับผลตอบแทนก่อน ประเภท ข. โดยผลตอบแทนของประชาชน จะต้องไม่ต่ำกว่า 3%
ส่วนแนวทางการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนรวม ไทย อีเอสจี โดยขยายให้ประชาชนสามารถนำเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนประเภทนี้ มาหักลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้น จาก ไม่เกิน 1 แสนบาท เป็น 3 แสนบาท และลดระยะเวลาถือครอง จาก 8 ปีนับจากวันที่ซื้อลงเหลือ 5 ปีนับจากวันที่ซื้อ ซึ่งมาตรการนี้จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีราว1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ตลาดทุนไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยดันมูลค่าให้สูงขึ้น