บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี จัดงาน SCG “The Possibilities for Inclusive Society – เติบโตไปด้วยกัน…กับโลกที่ยั่งยืน” รวมพลคนจากหลากหลายภาคส่วน ด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมใน 4 ด้าน ดังนี้ 1. ฟื้นน้ำ สร้างป่า ด้วยการดำเนินงานมาเกือบ 20 ปี อาทิ โครงการ ‘รักษ์ภูผามหานที’ ถ่ายทอดแนวทางบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่อย่างยั่งยืน เพื่อให้มีน้ำกิน ใช้ และทำเกษตรตลอดปี พร้อมจับมือกับชุมชนดูแลระบบนิเวศให้สมบูรณ์ ทั้งยังรักษาความหลากหลาย ทางชีวภาพ โดยตั้งเป้าหมายปลูก ฟื้นฟู อนุรักษ์ป่า 3 ล้านไร่ ภายในปี 2593 เพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากกว่า 5 ล้านตัน/ปี

2. พัฒนาอาชีพมั่นคง พัฒนาทักษะอาชีพ ให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน อาทิ โครงการ ‘พลังชุมชน’ พัฒนาศักยภาพชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าท้องถิ่นมีอัตลักษณ์และตอบโจทย์ตลาด โดยปัจจุบันสร้างอาชีพไปแล้ว 4,942 คน และสร้างรายได้เพิ่มกว่า 4-5 เท่า เกิดเป็นเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง 24 จังหวัดทั่วประเทศ

3. ส่งเสริมสุขภาวะ สนับสนุนให้ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่าง โครงการ ‘แพทย์ดิจิทัล ดูแลผู้ป่วยทางไกล’ ใช้นวัตกรรม ‘DoCare’ ระบบ ‘Tele-monitoring’ และ ‘Telemedicine’ ของเอสซีจี ดูแลผู้ป่วยทางไกลด้วยระบบติดตามสุขภาพ เก็บข้อมูลอย่างแม่นยำและต่อเนื่อง พร้อมระบบปรึกษาแพทย์ทางไกล โดยปัจจุบันขยายผลใช้กับโรงพยาบาลแล้ว 13 โรงพยาบาล และ 1 วิสาหกิจเพื่อสังคม ครอบคลุม 12 จังหวัดทั่วไทย พร้อมตั้งเป้าขยายอีก 10 โรงพยาบาล ใน 10 จังหวัด ภายในปี 2567

และ 4. สนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านโครงการ ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ เปลี่ยนจังหวัดสระบุรี ให้เป็น ‘เมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทย’ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้จังหวัดอื่น ๆ เปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย ‘Net Zero’ ภายในปี 2608 ด้วยการกำหนดใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ ในทุกงานก่อสร้างของ จ.สระบุรีตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป การทำนาเปียกสลับแห้ง การนำของเหลือจากการเกษตรและขยะชุมชน ไปแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน รวมถึงสร้างป่าชุมชนต้นแบบที่สามารถช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก และต่อยอดสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ฯลฯ

“ธุรกิจต้องปรับตัวให้เข้ากับ การเปลี่ยนแปลงของโลก สังคม และยุคสมัย เอสซีจีจึงยกระดับการขับเคลื่อนความยั่งยืนสู่ Inclusive Society ร่วมกับพนักงาน เครือข่าย พันธมิตร และชุมชน สร้างการเปลี่ยนแปลง แก้ไขปัญหาอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อมยั่งยืน และส่งต่อโลกที่น่าอยู่ให้คนรุ่นต่อไป ด้วยการผลักดันสังคมเติบโตไปด้วยกัน” ‘ชนะ ภูมี’ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารความยั่งยืน เอสซีจี กล่าว

นอกจากนี้ ภายในงานดังกล่าวยังมีการเปิดตัวหนังสือ ‘เหตุผลที่เรามารวมกัน’ ซึ่งเป็นการรวบรวมเรื่องราวการขับเคลื่อนความยั่งยืนของเอสซีจี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังรวมพลคนจากหลากหลายภาคส่วน ที่มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมในด้านต่าง ๆ โดยมี 4 ตัวแทนผู้นำชุมชน มาร่วมแบ่งปันแนวคิดและประสบการณ์ พร้อมส่งต่อพลังบวก ตั้งแต่ ‘วันดี อินทรพรม’ กำนัน ต.แกลง จ.ระยอง ผู้เปลี่ยนความแห้งแล้งของเขายายดา ให้เป็นป่าต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงชุมชนมาบจันทร์ ด้วยการ ‘สร้างฝายชะลอน้ำ’ จากองค์ความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมกับเอสซีจีซี

‘อำพร วงค์ษา’ ประธานศูนย์หัตถกรรมบ้านงานฝีมือบ้านผาหนาม จ.ลำพูน หนึ่งในสมาชิก ‘โครงการพลังชุมชน’ ผู้เดินหน้าสร้างอาชีพให้คนในชุมชน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ว่างงาน และผู้หญิงที่ขาดโอกาสในการทำงาน ‘จิตรา ป้านวัน’ ประธานชุมชนวังขรีวิถียั่งยืน ผู้ก่อตั้ง ‘กลุ่มเยาวชนยิ้มแฉ่งให้ด้วยใจ’ เพื่อแก้ปัญหาขยะ สร้างความร่วมมือภายในชุมชน เชื่อมเยาวชนและผู้สูงวับช่วยเหลือเกื้อกูลกัน พัฒนาชุมชนให้สะอาด น่าอยู่ พร้อมมุ่งสู่การเป็นชุมชนคาร์บอนต่ำ ‘นิโลบล ลิจุติภูมิ’ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานบริการด้านปฐมภูมิและองค์รวม โรงพยาบาลท่าวุ้ง จ.ลพบุรี บุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนให้ผู้ป่วย ได้รับการรักษาที่ดี แม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข ด้วยการใช้เทคโนโลยีแพทย์ดิจิทัลจากโครงการ ‘แพทย์ดิจิทัล ดูแลผู้ป่วยทางไกล’

 “โครงการต่าง ๆ ที่นำเสนอภายในงานนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้ทุกคนเติบโตไปด้วยกัน ที่เอสซีจีร่วมมือกับพนักงาน เครือข่าย พันธมิตร และชุมชน มุ่งมั่นมาตลอดการดำเนินธุรกิจกว่า 111 ปี โดยเอสซีจียังคงเดินหน้ามุ่งสู่เป้าหมาย ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้งด้านการศึกษา อาชีพ และสุขภาวะ ให้ได้ 50,000 คน ภายในปี 2573  อย่างไรก็ตาม เส้นทาง ‘การพัฒนา’ ไม่มีวันสิ้นสุด เราต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทันกับ การเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่เสมอ เพื่อร่วมกันสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน สังคมที่น่าอยู่ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” ชนะ กล่าวทิ้งท้าย