“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า ขณะนี้ขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศรุ่น Kiha 40 จำนวน 11 คัน และ Kiha 48 จำนวน 9 คัน รวม 20 คัน ที่ JR East (East Japan Railway Company) บริษัทรถไฟในญี่ปุ่น มอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ผ่านกระบวนการพิธีการศุลกากรเรียบร้อยแล้ว ภายหลังขนย้ายมาจากท่าเรือนีงาตะ (Niigata) ประเทศญี่ปุ่น ถึงท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา ผู้รับจ้างเตรียมแยกชิ้นส่วนของตู้รถไฟ (บอดี้) และชุดแคร่ล้อรับน้ำหนักตู้รถไฟ (โบกี้) ออกจากกัน เพื่อขนย้ายโบกี้มาปรับขนาดความกว้างของฐานเพลาล้อจาก 1.067 เมตร เป็น 1.00 เมตร ที่โรงงานมักกะสัน

เมื่อปรับขนาดความกว้างของฐานเพลาล้อแล้วเสร็จ จะนำโบกี้กลับมาประกอบเข้ากับตู้รถไฟ (บอดี้) ที่สถานีรถไฟแหลมฉบัง ก่อนนำกลับมายังโรงงานมักกะสันทางรางรถไฟ และเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงขบวนรถต่อไป จะทยอยดำเนินการ คาดว่าคันแรกจะแล้วเสร็จ และนำมาให้บริการประชาชนได้ประมาณปลายปี 67 เบื้องต้นยังใช้แผนเดิมให้บริการเป็นรถโดยสารปรับอากาศชั้น 3 ในเส้นทางระยะใกล้ อาทิ จ.พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา และนครปฐม เข้ากรุงเทพฯ รวมทั้งอาจจะนำมาใช้เป็นขบวนเสริม (Feeder) วิ่งเส้นทางประจำในชั่วโมงเร่งด่วน รวมทั้งอาจจะนำมาใช้เป็นขบวนเสริม (Feeder) วิ่งเส้นทางประจำในชั่วโมงเร่งด่วน และนอกเวลาเร่งด่วนได้ ช่วยเสริมขบวนรถโดยสารที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งขาดแคลนรถใหม่ในระหว่างที่การจัดหาล่าช้า

“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานด้วยว่า สำหรับรถดีเซลราง Kiha 40 และ Kiha 48 ทาง JR East ปลดระวางเมื่อต้นปี 66 รถยังมีสภาพที่ดีพร้อมใช้งาน ไม่โทรมมากเหมือนกับ Kiha 183 ที่ต้องนำมาปรับปรุงค่อนข้างมาก โดยรถดีเซลราง Kiha 40 และ Kiha 48 มีอายุการใช้งานมาแล้วประมาณ 40 ปี ใช้งานได้อีก 10-15 ปี หากซ่อมบำรุงครบตามวาระ Kiha 40 มีห้องขับ 2 ห้อง (Double cab) และ Kiha 48 มีห้องขับเดียว (Single cab) มีความสะดวกต่อการใช้งานมาก โดยเฉพาะรถดีเซลราง Kiha 40 สามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองแบบคันเดียวได้เลย เพราะมีห้องขับ ทั้งด้านหน้า และด้านท้าย ทำความเร็วสูงสุดได้ประมาณ 95 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง (ชม.) ทั้งนี้ รถ 2 รุ่นเป็นรถแอร์ ติดตั้งระบบปรับอากาศ ขนาด 30,000 Kcal หรือ 119,100 BTU ถือว่ามีความเย็นเพียงพอต่อการใช้งาน เมื่อนำมาใช้ในประเทศไทย

รถดีเซลราง Kiha 40 มี 68 ที่นั่ง และ Kiha 48 มี 82 ที่นั่ง ไม่รวมผู้โดยสารที่ต้องยืน แต่ละที่นั่งเป็นเบาะหลังตรง ไม่สามารถปรับเอนได้เหมือนกับ Kiha 183 ที่ รฟท. รับมอบมาก่อนหน้านี้ โดยที่นั่งบนรถ Kiha 40 และ Kiha 48 มีทั้งแบบนั่งตรงข้ามกัน (Cross seat) และแบบม้านั่งยาว (Long Seat) ส่วนห้องสุขา เป็นระบบปิด (ไม่ปล่อยลงพื้น) แบบนั่งยอง ซึ่งเป็นโจทย์ที่ รฟท. ต้องมาปรับเปลี่ยนแก้ไขตามกระแสโลกที่เปลี่ยนไปต่อไป

Photo credit / ขอบคุณแหล่งข่าว ***ห้ามนำภาพไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต