เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 26 มิ.ย. ที่ห้องโถง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และภริยา ให้การต้อนรับ นายดาโช เชริง โตบเกย์ (Dasho Tshering Tobgay) นายกรัฐมนตรีภูฏานและภริยา ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) โดยเมื่อเดินทางถึง นายกรัฐมนตรีได้นำนายกรัฐมนตรีภูฏาน ตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ซึ่งครั้งนี้ได้ย้ายมาจัดที่บริเวณห้องโถง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากมีฝนตกลงมาอย่างหนักทำให้พิธีต้อนรับและสวนสนามที่บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ไม่สามารถทำได้ 

จากนั้นนายกฯ และภริยา และนายกฯ ภูฏานและภริยา ถ่ายภาพร่วมกันที่บันไดโถงกลาง ตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึก ที่ห้องสีงาช้าง (ด้านนอก)  ต่อมาเวลา 10.45 น.  นายกฯ ไทยและนายกฯ ภูฏาน หารือแบบ Four eyes  ที่ห้องสีงาช้าง (ด้านใน) ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล  โดยนายกฯ กล่าวว่า ยินดีอย่างยิ่งที่ได้พบกับนายกฯ ภูฏานที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอีกครั้ง โดยเชื่อมั่นว่าด้วยมิตรภาพที่แน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ จะสามารถกระชับความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่มีศักยภาพร่วมกันเพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและในระดับภูมิภาคได้

ด้านนายกฯ ภูฏาน กล่าวขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่นในประเทศไทย โดยการเยือนครั้งนี้ถือเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 35 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตของไทย–ภูฏาน ชื่นชมไทยที่ถือเป็นประเทศผู้นำของอาเซียนและภูมิภาค โดยทั้งสองประเทศต่างมีความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างใกล้ชิด พร้อมขอบคุณและซาบซึ้งในการทำงานของรัฐบาลไทยและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนและให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ด้านการค้าการลงทุน โดยทั้งสองฝ่ายยินดีกับการประกาศเริ่มเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกัน  

โดยนายกฯ ภูฏาน กล่าวว่า ไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของภูฏาน จึงเห็นถึงโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยสามารถร่วมมือจัดตั้งธุรกิจผ่านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และกิจการร่วมค้าในภูฏาน และขยายช่องทางการค้าไปยังอินเดียได้ ขณะที่ด้านโอกาสการลงทุนในโครงการเมืองอัจฉริยะ Gelephu Mindfulness City (GMC) ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งภูฏาน ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของภูฏาน โดยมีแผนการก่อสร้างท่าอากาศยานระหว่างประเทศแห่งใหม่ เส้นทางคมนาคม และจะเป็นเมืองอัจฉริยะแห่งแรกของภูฏาน โดยไทยพร้อมที่จะสำรวจโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนสำหรับภาคเอกชนไทยที่สนใจ ซึ่งนายกฯ ไทยเชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะทำให้ภูฏานเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ที่มีเครือข่ายของระบบนิเวศที่ยั่งยืนได้ 

ขณะที่ด้านสาธารณสุข ทั้งสองฝ่ายพร้อมสานต่อความร่วมมือด้านการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะในโครงการพัฒนาด้านการผ่าตัดปลูกถ่ายไตให้แก่โรงพยาบาล Jigme Dorji Wangchuck National Referral Hospital (JDWNRH) เมื่อปี 2566 ซึ่งถือเป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายไตครั้งแรกในภูฏาน และโครงการพัฒนาบริการทางการแพทย์เพื่อการรักษาหู จมูก และคอ ซึ่งไทยได้มีการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมทั้งไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับภูฏานในการสร้างขีดความสามารถให้กับบุคลากรทางการแพทย์ชาวภูฏาน 

ก่อนที่เวลา 12.00 น. ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา และ ดาโช เชริง โตบเกย์ (Dasho Tshering Tobgay) นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏาน เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้ 1.บันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัย และการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กับมหาวิทยาลัยแพทย์ เคเซอร์ เกียลโป ของภูฏาน และ 2.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทย–ภูฏาน 

จากนั้นนายกฯ ไทยและภูฏาน แถลงข่าวร่วมกันโดยนายกฯ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับนายกฯ ภูฏาน ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งตรงกับโอกาสครบรอบ 35 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันที่มีความใกล้ชิดมาตั้งแต่ปี 2532 โดยมีพื้นฐานความสัมพันธ์ทั้งในระดับราชวงศ์ ความปรารถนาดีต่อกัน รวมถึงต่างมีวิสัยทัศน์ร่วมกันในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งการเยือนครั้งนี้ นับเป็นการเน้นย้ำความมุ่งมั่นของทั้งสองฝ่ายที่จะกระชับความร่วมมือในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและภูฏานให้ใกล้ชิดมากที่สุด โดยได้หยิบยกประเด็นที่มีความสำคัญในระหว่างการหารืออย่างเป็นประโยชน์ร่วมกัน

นายกฯ กล่าวต่อว่า ด้านการค้า ไทยและภูฏานเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นผ่านการเจรจา FTA ให้เสร็จสิ้น ภายในปี 2025 เพื่อให้สามารถเข้าถึงตลาดระหว่างกัน พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน เพื่อเพิ่มปริมาณการค้าให้บรรลุเป้าหมาย 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เร็วที่สุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าระหว่างกัน 

ทั้งนี้ ไทยมีความสนใจเข้าไปลงทุน เชื่อมั่นว่าจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ของภูฏาน ด้านนายกฯ กล่าวอีกว่า ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญของไทยและภูฏาน เนื่องจากทั้งสองประเทศมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ต่างมีวัฒนธรรมอันยาวนาน และความงามทางธรรมชาติที่หลากหลาย พร้อมยินดีส่งเสริมโครงการ “2 ราชอาณาจักร 1 จุดหมายปลายทาง” (Two Kingdom’s One Destination) ซึ่งจะส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในทั้งสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายเล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกลุ่ม Friends of Thailand-Bhutan เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ เชิญนายกฯ ภูฏานเข้าร่วมการประชุมผู้นำความร่วมมือระดับภูมิภาค ความสำคัญกับความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) ในเดือน ก.ย.ปีนี้ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพด้วย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้าย นายกฯ ในนามของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยในการกระชับความร่วมมือกับภูฏานในทุกมิติ  โดยนายกฯ ภูฏาน กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีที่ได้มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของนายกฯ พร้อมนำความปรารถนาดีจากราชวงศ์ และประชาชนชาวภูฏานที่มีต่อนายกรัฐมนตรี รัฐบาลและประชาชนชาวไทย การเดินทางมาในครั้งนี้ทำให้เห็นว่าประเทศไทย และความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ภูฏานพัฒนาไปอย่างมาก 

“ขอบคุณรัฐบาลและประชาชนชาวไทยสำหรับความสัมพันธ์และความร่วมมือในการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจของภูฏาน โดยภูฏานนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 4 และถือว่าไทยเป็นคู่ค้าอันดับต้นๆ รวมทั้งยังเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญ ทั้งในด้านท่องเที่ยวและการแพทย์สำหรับชาวภูฏาน พร้อมตอบรับเข้าร่วมการประชุม BIMSTEC ตามคำเชิญของนายกฯ ไทยด้วย และเชิญนายกฯ ไทยเยือนภูฏานในโอกาสแรกที่สะดวกด้วย” นายกฯ ภูฏาน กล่าว

จากนั้นนายกฯ ไทยและนายกฯ ภูฏานเยี่ยมชมนิทรรศการศิลปหัตถกรรมและหัตถศิลป์  ที่โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ก่อนที่เวลา 12.00 น.  นายกฯ เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีภูฏานและภริยา ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล.