เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. จ่าสิบเอกกู้เกียรติ (ขอสงวนนามสกุล)  อายุ 71 ปี อดีตข้าราชการทหาร มทบ.24 จ.อุดรธานี เดินทางมาแจ้งความโรงพักเมืองอุดรธานี เพราะโดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงิน โดยกล่าวหาว่าไปเปิดบัญชีม้า และมีคนโอนเงินมาจาก จ.สุรินทร์ จำนวน 3 แสน เข้าบัญชี  โดยทาง ป.ป.ช.และ DSI จะต้องตรวจสอบ

จ่าสิบเอกกู้เกียรติ เล่าว่า ตนเป็นข้าราชการบำนาญ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 เสียงผู้หญิงโทรฯ มาหา อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย จ.ขอนแก่น หาว่าตนไปเปิดบัญชีม้า ที่สาขาเซ็นทรัล จ.ขอนแก่น จำนวน 500 บาท มีคนโอนเงินเข้าบัญชี 3 แสนบาทจากตน ตนเองก็บอกว่าไม่รู้เรื่อง บอกให้อายัดบัญชีไว้ จะไปแจ้งความว่า มีคนเอาชื่อตนไปเปิดบัญชี เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ต้อง เพราะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการอายัดเงินไว้แล้ว จากนั้นให้พูดคุยกับผู้ชาย อ้างว่าเป็นตำรวจยศ ร.ต.อ. ที่ จ.สุรินทร์ เป็นเจ้าของคดีเกี่ยวกับบัญชีม้า แจ้งว่า ตนมีความผิดที่ไปเปิดบัญชีม้า ตนก็ยืนยันว่าไม่ได้เดือดร้อนจะไปเปิดทำไม ก่อนที่เขาหลอกถามข้อมูลส่วนตัวตน

จ่าสิบเอกกู้เกียรติ เล่าต่อว่า  ตนลาออกจากราชการ แล้วไปเป็น รปภ.ที่สำนักงานทหารผ่านศึก 10 กว่าปี ตอนนี้ไปทำไร่มะขาม  ตนไม่ได้เดือดร้อนที่จะต้องไปเปิดบัญชีม้า ตำรวจคนดังกล่าว ก็ยังสงสัยลูกเมียตนไปเปิดบัญชีม้า ตนก็บอกว่าลูกเมียตนจะไปเปิดทำไม เมียตนเป็นครูบำนาญ ลูกตนเป็นเภสัช มีเงินเดือนใช้ และส่งเงินมาให้ใช้ตลอด ถ้าเช่นนั้นก็จะกันตนเป็นพยานแทน หรือกันเอาเป็นพยานในคดี เพราะผู้ใหญ่ทางกรุงเทพฯ และ DSI สนใจมากเลยในเรื่องนี้ และถามอีกว่าตนมีบัญชีธนาคารกี่บัญชี ตนก็บอกว่ามีบัญชีเงินบำนาญ และบัญชีที่ลูกส่งเงินมาให้ใช้  ตำรวจจึงแจ้งว่าเดี๋ยว ป.ป.ช.กับ DSI จะตรวจสอบบัญชีของตนว่าเกี่ยวข้องหรือไม่

จ่าสิบเอกกู้เกียรติ เล่าต่อว่า วันต่อมา ขณะนั่งกินข้าว ตำรวจคนเดิมก็ได้โทรฯ หา สั่งให้ตนไปธนาคาร  ไปเบิกเงินในบัญชีธนาคาร เพื่อส่งมาให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ตรวจสอบ ไม่ต้องปิดมือถือ ถ้าพนักงานแบงก์ถาม ให้บอกว่าจะถอนเงินเอาไปซื้อปุ๋ย ตนจึงถอนเงินออกจากบัญชีทั้งหมด 17,000 บาท จากนั้นผู้กองก็ให้ตนไปร้านสะดวกซื้อ เพื่อโอนเงิน 15,000 บาท เข้าบัญชีเจ้าหน้าที่ ครั้งแรกโอนไม่ได้  แล้วตนออกมาคุยโทรศัพท์กับผู้กองบอกว่าโอนไม่ได้ เพราะเลขที่บัญชีผิด ครั้งที่ 2 ก็โอนไม่ได้อีก

“ผู้กองจึงให้ผมเปลี่ยนไปโอนที่ร้านสะดวกซื้อร้านใหม่  โอนเข้าบัญชีนางวิภาดา ซึ่งอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และก็โอนสำเร็จ  หลังจากนั้นก็ออกมาคุยกับเขาทางโทรศัพท์นอกร้าน ส่วนเงินที่เหลือ 2,000 บาท  ผู้กองบอกให้ตนเก็บเอาใช้ซื้อข้าวกิน  เมื่อตรวจสอบว่าไม่มีความผิดก็จะโอนเงิน 15,000 บาทคืน พร้อมกับโอนค่าเสียเวลาอีก 2 หมื่นบาท” จ่าสิบเอกกู้เกียรติ กล่าว

จ่าสิบเอกกู้เกียรติ เล่าว่า พอตนกลับไปบ้าน ไม่ยอมบอกลูกและเมีย และไม่โทรฯ ไปหาตำรวจอีก เพราะว่าต้องเก็บไว้เป็นความลับสุดยอด แต่พอมาวันนี้ตนได้ถามเมียว่า ได้ไปเปิดบัญชีหรือโอนเงินที่ จ.ขอนแก่น เป็นชื่อของตนหรือเปล่า เท่านั้นล่ะตนก็โดนเมียด่า จากนั้นก็โทรฯ ไปถามลูกที่เป็นเภสัช ก็โดนลูกบอกว่าตนโดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงินแล้ว ครั้งแรกก็ตกใจ และเจ็บใจเพราะเป็นเงินลูกส่งมาให้ใช้จ่าย และเป็นค่าเดินทางไปรักษาโรคประจำตัว เบาหวาน ความดัน ไขมัน ต้องไปหาหมอที่กรุงเทพฯ และสั่งให้ตนมาแจ้งความไว้ เพราะเกรงว่าแก๊งจะนำบัญชีธนาคารของตนไปใช้เพราะเขารู้ข้อมูลส่วนตัวแล้ว