สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ว่า บริษัทข้ามชาติหลายร้อยแห่ง ร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็น 3 เท่า ภายในปี 2578 หลังญี่ปุ่นพึ่งพาพลังงานถ่านหินเป็นอย่างมาก กำลังปรับปรุงนโยบายพลังงานในประเทศ

“รี100” เป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่มากกว่า 400 แห่ง ซึ่งมุ่งมั่นที่จะใช้ไฟฟ้าหมุนเวียนทั้งหมด รวมไปถึงบริษัทญี่ปุ่น 87 แห่ง อาทิ โซนี่และพานาโซนิค “ด้วยการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนในประเทศ ญี่ปุ่นจะสามารถสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน, ปกป้องความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ และเพิ่มการลงทุนภาคเอกชน ในโครงการพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น” กลุ่มรี100 กล่าว

ขณะเดียวกัน มีการเรียกร้องให้ญี่ปุ่นใช้แผนพลังงานเชิงกลยุทธ์ ซึ่งมีกำหนดเปิดตัวในปลายปีนี้ ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนเป็น 3 เท่าจาก 121 กิกะวัตต์ ในปี 2565 เป็น 363 กิกะวัตต์ ก่อนปี 2578

ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามกรอบของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ยูเอ็นเอฟซีซีซี) ครั้งที่ 28 เมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา เกือบ 120 ประเทศ รวมถึงญี่ปุ่น ได้ให้คำมั่นในการเพิ่มพลังงานทดแทนของโลกเป็น 3 เท่า ภายใน 7 ปี ซึ่งในปี 2565 ญี่ปุ่นและสหรัฐ เป็นกลุ่มประเทศ “จี7” ซึ่งมีส่วนแบ่งพลังงานหมุนเวียนต่ำที่สุด อยู่ที่ร้อยละ 22.6 ของการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน ตามรายงานของทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ)

รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 แต่ยังไม่กำหนดวันที่จะยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน แม้บรรดารัฐมนตรีจากประเทศอื่นในกลุ่มจี7 กำหนดเป้าหมายไว้ที่ช่วงปี 2573-2582

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังคงรักษาสถานที่ผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินไว้เผื่อในอนาคต การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะสามารถถูกจำกัดด้วยเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนมองว่าไม่ได้รับการพิสูจน์ และมันมีเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ จากการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

รี100 ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้วโดยไคลเมต กรุ๊ป ร่วมมือกับคาร์บอน ดิสโคลเชอร์ โปรเจกต์ (ซีดีพี) เอ็นจีโอระดับโลก ที่คอยติดตามและให้คะแนนคำมั่นสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศของบริษัทต่าง ๆ โดยก่อนการปรับปรุงยุทธศาสตร์พลังงานของญี่ปุ่น บริษัทได้กำหนดข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 6 ประการ เพื่อปรับปรุง “ความพร้อมใช้งาน, การเข้าถึง และความสามารถในการจ่ายของพลังงานหมุนเวียนในญี่ปุ่น”

ขณะนี้ ญี่ปุ่นยังพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์จำนวนมากยังคงปิดให้บริการ หลังจากภัยพิบัตินิวเคลียร์ ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เมื่อปี 2554.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES