ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สวนสาธารณะหน้าโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส นายวีรพัฒน์ บุณฑริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานเปิดงานมหกรรมยกระดับกาแฟอัตลักษณ์พื้นถิ่นชายแดนใต้–มาเลเซีย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยมี นาวาเอก จักรพงษ์ อภิมหาธรรม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศอ.บต. หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วม ตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ในคราวประชุม 3/2566 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 มีมติเห็นชอบกรอบแนวทางการยกระดับการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกับรัฐติดชายแดนไทยของมาเลเซียสู่การเป็นเมืองคู่แฝด (Twin cities) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2567-2570) และมอบหมาย ศอ.บต. เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลัก ประสานการปฏิบัติกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทยและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัด กำกับ และติดตามการดำเนินการตามกรอบแนวทาง ทั้งนี้ ภายใต้กรอบแนวทางดังกล่าว ได้กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมพัฒนาความร่วมมือด้านการค้าชายแดน ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการตลาดแบบ Influencer marketing และสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมท่องเที่ยว และการจัดงานแสดงสินค้าและบริการเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นมาตรการสำคัญเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อแสวงหาการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการแสวงหาเทคโนโลยีหรือตลาดใหม่ ศอ.บต. บูรณาการร่วมกับเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก และกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) หอการค้าจังหวัดนราธิวาส จึงจัดงานมหกรรมยกระดับกาแฟอัตลักษณ์พื้นถิ่นชายแดนใต้-มาเลเซีย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ระหว่างวันที่ 21–23 มิถุนายน 2567 ณ สวนสาธารณะหน้าโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส

สำหรับวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสินค้าฮาลาลชายแดนใต้ การค้าชายแดนและการท่องเที่ยวบนพื้นฐานสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการบริโภคกาแฟอัตลักษณ์พื้นถิ่นชายแดนใต้และมาเลเซีย พร้อมให้ความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ของการบริโภคกาแฟ และเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมกาแฟ ระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ประชาชนที่สนใจกาแฟในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และประเทศมาเลเซีย ผู้แทนส่วนราชการ และภาคเอกชนในพื้นที่ กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การแสดงสินค้า ผลิตภัณฑ์กาแฟ และเบเกอรี่จากคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประเทศมาเลเซีย จำนวนกว่า 40 ร้านค้า การแข่งขันกาแฟ จำนวน 2 รายการ ได้แก่ รายการ border es yen (kopi susu) competition 2024 มีผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขัน 12 รายเป็นผู้สมัครจาก ฝ่ายไทย 10 ราย และ มาเลเซีย 2 ราย รายการ Brewing Border มีผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขัน 24 ราย เป็นผู้สมัครจาก ฝ่ายไทย 16 ราย และ มาเลเซีย 8 ราย การเสวนาให้ความรู้เรื่องแอลกอฮอล์ในอาหาร และเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องโอกาสและแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจกาแฟของไทยและมาเลเซีย โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากกรุงเทพฯ และในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ ศอ.บต. คาดหวังว่า ประชาชนที่สนใจกาแฟในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสและใกล้เคียง รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่สนใจกาแฟจากประเทศมาเลเซียที่เข้าร่วมกิจกรรม จะได้รับองค์ความรู้เชิงวิชาการ สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้จากการจัดกิจกรรม สร้างเครือข่ายธุรกิจให้กับร้านกาแฟ ร้านอาหาร และผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวเนื่องส่งเสริมการบริโภคกาแฟอัตลักษณ์พื้นถิ่นชายแดนใต้และมาเลเซีย เกิดความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ของการบริโภคกาแฟ สามารถเสริมสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ และเชื่อมโยงเศรษฐกิจในระดับฐานรากยกระดับไปสู่ระดับอนุภูมิภาค ให้มีความเข้มแข็งผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

นายวีรพัฒน์ บุณฑริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศอ.บต. ได้จัดกิจกรรมบูรณาการอำนวยความเป็นธรรม แก้ไขปัญหาบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร หรือการจัดงานสำคัญทางศาสนาของวัดไทยในมาเลเซีย แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่จัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจร่วมกับประเทศมาเลเซีย ณ บริเวณแนวชายแดน ภายหลังจากที่มีนโยบายยกระดับการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกับรัฐติดชายแดนไทยของมาเลเซียสู่การเป็นเมืองคู่แฝด (Twin cities) เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน วัฒนธรรมการดื่มกาแฟ เป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่นร่วมกันในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดโอกาสในการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ การพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรม ยกระดับการดื่ม การผลิต การค้ากาแฟในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อมโยงกับทวีปเอเชีย แอฟริกา กับลาตินอเมริกา คาดหวังว่าการจัดงานในวันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาต่อยอดเกี่ยวกับกาแฟในอีกหลายด้าน อาทิ ฝึกอบรมหลักสูตร “บาริสต้า” และกำหนดมาตรฐานสำหรับกาแฟในอาเซียนในแง่ของโปรไฟล์ “กลิ่นรส” และ “การคัพปิ้ง” แบบเจาะลงไปในแต่ละแหล่งปลูก เพื่อเป็นแนวทางให้บรรดาผู้ซื้อ ตลอดจนทำให้มีการเปิดตลาดกาแฟระหว่างประเทศ และกระจายไปทั่วโลก อันจะเป็นความท้าทายใหม่ในวงการกาแฟของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และมาเลเซียต่อไปในอนาคต