เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เตรียมจะยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี กรณีปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หากไม่ออกคำสั่งให้กลับไปทำหน้าที่ ว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มีสิทธิฟ้อง เพราะเป็นการฟ้องส่วนตัว แต่เห็นว่าไม่ควรฟ้องและไม่น่าฟ้องนายกรัฐมนตรี เพราะยังมีช่องทางที่จะได้รับการเยียวยาหลายช่องทาง ควรไปใช้ช่องทางปกติ โดยใช้ช่องทางของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ที่กฎหมายบัญญัติว่าถ้าใครไม่ได้รับความเป็นธรรมและความเดือดร้อนจากผู้บังคับบัญชา และร้องเรียนผู้บังคับบัญชาแล้วไม่ได้ผล ก็มายื่นร้อง ก.พ.ค. เมื่อมีคำตัดสินออกมาอย่างไร ให้ปฏิบัติตามนั้น และเวลานี้เรื่องทั้งหมดอยู่ที่ ก.พ.ค.

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ทั้งคณะอนุกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และคณะกรรมการกฤษฎีกา จะเป็นหลักฐานที่ส่งไปที่ ก.พ.ค. เพื่อวินิจฉัย คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน

ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ควรรอฟังผลจาก ก.พ.ค. อย่างเดียวหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ทุกคนที่เกี่ยวข้องควรรอ ก.พ.ค. เว้นแต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะไปแก้ไขหรือเยียวยาเอง หากทำอย่างนั้น ก็ต้องทิ้งเรื่องไว้ที่ ก.พ.ค.

เมื่อถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ อ้างมติ ครม. ปี 2482 ว่าหน่วยงานใดที่ขอคำปรึกษาจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ต้องยึดปฏิบัติตามความเห็นกฤษฎีกาด้วย นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้มีอยู่จริง และเป็นผลสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม และปฏิบัติกันมาจนถึงทุกวันนี้ และขอย้ำว่า ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้ชี้ถูกหรือผิด และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีนายฉัตรชัยพรหมเลิศ เป็นประธาน ก็ไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิด รวมถึงการแถลงข่าวของตนในเรื่องดังกล่าว ก็ไม่ได้ชี้ถูกหรือผิด เพียงแต่บอกความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดที่ 2 ว่ามีความเห็นอย่างไร และตามหลักกฎหมายที่สื่อมวลชนมาถามว่ามีโอกาสชิงตำแหน่ง ผบ.ตร. หรือไม่ ก็ต้องบอกว่ามี เพราะใครก็ตามที่มียศ พล.ต.อ. และเป็น รอง ผบ.ตร. รวมทั้งจเรตำรวจ ก็มีโอกาสทั้งนั้น สุดท้ายจะได้เป็นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมติ ก.ตร. และหลายองค์ประกอบ แล้วขึ้นอยู่กับว่านายกรัฐมนตรีจะเสนอชื่อใคร

เมื่อถามย้ำว่ามติ ครม. ดังกล่าวที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ นำมาอ้าง สามารถฟังได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ทุกคนก็นำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวเองมาอ้าง ใครจะอ้างอิงเหตุผลที่เป็นโทษกับตัวเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เตรียมฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จะส่งผลให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นกังวลหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่จบ พอดูเหมือนว่าจะนำผลของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่นายกฯ ตั้งขึ้น ไปต่อยอด นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้ามีการฟ้องร้องอีก ถือเป็นคดีใหม่ และคดีเก่าจบไป คดีของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งเรื่องจบไปแล้วส่วนหนึ่ง ส่วนกรณีที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ไปยื่นฟ้อง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. และคนอื่นๆ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นธรรมดาเหมือนคดีทั่วไป ที่จบอีกเรื่องก็มีอีกเรื่องหนึ่งขึ้นไป และถือเป็นเรื่องตัวบุคคล ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับองค์กร ไม่เกี่ยวกับกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และขอย้ำประโยคนี้ว่า เขาออกแบบไว้ให้ ก.พ.ค.ตร. เป็นผู้ตัดสินปัญหา ก็ต้องใช้ช่องทางนี้ หากผลตัดสินของ ก.พ.ค.ตร. ไม่เป็นที่พอใจ ก็ไปร้องศาลปกครองได้อีก

เมื่อถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ สามารถกลับเข้ามาเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร. ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าดูจากวันนี้เดี๋ยวนี้ ตอบได้ว่ามี แต่ถ้าต่อไป อาจมีการแก้เกมอย่างอื่นจนไม่ได้เป็นก็ได้ เพราะยังมีช่องกฎหมายอีกเยอะ ตามช่องที่คณะกรรมการกฤษฎีกาบอกว่ากระบวนการไม่ชอบ และเป็นเอกฉันท์

เมื่อถามย้ำว่า กระบวนการทั้งหมดจะไม่สามารถดำเนินการได้ หากยังไม่มีการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่ เมื่อถามอีกว่า มีโอกาสที่จะไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เขาจะไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ แน่ เว้นแต่ ก.พ.ค.ตร. จะสั่งลงมา แต่คณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ไม่ได้บอกว่าไม่ให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่บอกว่าหนังสือที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ มีข้อสังเกตว่า ควรจะถูกต้องตามกระบวนการ เพราะมีตัวอย่างมาแล้วนับ 10 เรื่อง ที่กระบวนการไม่ถูก แล้วถูกส่งกลับมา ดังนั้นต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างขึ้นอยู่กับ ก.พ.ค.ตร. และรัฐบาลเองก็ฟัง ก.พ.ค.ตร. จะเอาอย่างไรก็เอาตามนั้น