ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรุ่นใหม่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ มาร่วมเปิดโลกวัสดุใหม่ ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานด้วยนวัตกรรม และการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างสรรค์สินค้าใหม่ ตอบโจทย์ความนิยมของตลาดทั้งระดับในประเทศและระดับสากล

เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของ “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” รมว.อุตสาหกรรม และ “ภาสกร ชัยรัตน์” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่กำหนดนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนให้ทันตามโลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ผ่านกลยุทธ์การปรับตัวให้ก้าวทันเศรษฐกิจยุคใหม่ เน้นส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้มีขีดความสามารถแข่งขัน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

“ดวงดาว ขาวเจริญ” รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) ระบุว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้รับโจทย์มา จึงได้เดินหน้าสร้างแรงบันดาลใจให้นักออกแบบหน้าใหม่และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ออกแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ใช้นวัตกรรมหรือวัสดุที่แปลกใหม่ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งต่อยอดแนวคิดให้เกิดมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ ควบคู่การเชื่อมโยงเอกลักษณ์และทุนทางวัฒนธรรมในเชิงพื้นที่

ทั้งนี้ดีพร้อม ได้สร้างเครือข่ายผ่านกิจกรรมเปิดโลกวัสดุใหม่ด้วยนวัตกรรมและการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ประจำปี 2567 ให้ผู้ประกอบการกว่า 28 กิจการ ฝึกอบรมหลักสูตรปลดล็อกความคิดใหม่ผสานทุนวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ เข้าร่วมกิจกรรมค่ายบ่มเพาะไอเดียสร้างสรรค์ในพื้นที่ 5 ภูมิภาค และให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกจัดทำต้นแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้เรียนรู้ปรับกระบวนการความคิด จุดประกายแนวคิดคัดเลือกวัสดุจากท้องถิ่น ภายในประเทศมาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบโดยอาศัยนวัตกรรมและการออกแบบเชิงสร้างสรรค์อย่างเหมาะสม ต่อยอดให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานในบริบทใหม่ เป็นการยกระดับศักยภาพวัสดุท้องถิ่นด้วยนวัตกรรมและแนวคิดการออกแบบสร้างสรรค์ผสานกับความรู้และเทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์ ทำให้ได้วัสดุและผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว

“แต่ละกิจการมีผลงานที่โดดเด่นแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการประยุกต์วัสดุท้องถิ่นเข้ากับลายผ้าทอเพื่อให้เกิดลวดลาย และเทคนิคใหม่ ๆ การทำเครื่องประดับด้วยวัสดุท้องถิ่นให้ดูทันสมัย หรือการนำเสนอการใช้งานวัสดุใหม่อย่างเส้นลวดทองเหลืองชุบที่เป็นวัสดุเชื่อมในการทำเครื่องประดับเดิมมาเป็นวัสดุหลักผ่านการออกแบบสร้างสรรค์ การค้นหาของเสียจากกระบวนการผลิตในท้องถิ่นมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น บีนแบคไม้หุ้มด้วยนวัตกรรมการเคลือบผิวผักตบชวาสาน แผ่นวัสดุตกแต่งผนังด้วยนวัตกรรมสร้างสมดุลธรรมชาติร่วมกับเส้นใยเห็ด และแผ่นจากวัสดุซีเมนต์ เสริมแร่ธาตุสำหรับปลูกพืชแบบไร้ดิน เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการพัฒนาสูตรร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละพื้นที่”

ช่วงกลางเดือน มิ.ย. ได้นำผลงานจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวข้างต้นมาจัดแสดงนิทรรศการ “เปิดโลกวัสดุใหม่ เปลี่ยนรูปวัสดุเดิม เพื่อทดสอบตลาดไอเดียสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 30 บูธ ที่ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เพื่อแสดงผลงานและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้รับพัฒนาต่อยอดแนวความคิดสร้างสรรค์วัสดุท้องถิ่น โดยการจัดงานดังกล่าวได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมากมีผู้เข้าร่วมงานดังกล่าวไม่น้อยกว่า 5 หมื่นราย และคาดว่า จะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ตํ่ากว่า 100 ล้านบาท.