“ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์” เผยแนวโน้มรายได้ของภาคครัวเรือนยังซบเซาส่งผลต่อการจัดการหนี้ โดยเฉพาะคนรายได้น้อย ทำให้มีปัญหาด้านหนี้สูงขึ้น ซึ่งจากที่ได้สำรวจผู้บริโภคช่วงวันที่ 27 ส.ค.-27 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ครัวเรือนมีปัญหาภาระหนี้สูงถึง 55.4% และที่น่ากังวลคือสัดส่วนถึง 78% ของคนกลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือนที่มีหนี้ ประเมินว่าตนเองเป็นผู้ที่มีปัญหาภาระหนี้ โดยมีสัดส่วนสูงกว่า 1 ใน 4 หรือ 27.4% ของผู้มีรายได้น้อยเป็นผู้มีปัญหาภาระหนี้หนัก ขณะที่สัดส่วนผู้มีปัญหาภาระหนี้จะน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัดสำหรับผู้มีรายได้สูง

ทั้งนี้จากผลสำรวจเห็นว่าคนไทยส่วนมากประสบปัญหาภาระหนี้ไม่มากก็น้อย โดยปัญหาภาระหนี้มีมากเป็นพิเศษในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยซึ่งมีความเปราะบางเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยหนี้ครัวเรือนไทยไตรมาสสองอยู่ที่ 89.3% ต่อจีดีพี คาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนสิ้นปี 64 จะอยู่ในช่วง 90-92% ต่อจีดีพี ซึ่งสัดส่วนหนี้จะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงที่เหลือของปี

ภาวะหนี้สูงของภาคครัวเรือนไทยน่าจะยังเป็นปัญหาที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขไปอีกหลายปี โดยอาจใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี เนื่องจากปริมาณหนี้ภาคครัวเรือนมีสูง ซึ่งบางส่วนยังถูกพักชำระไว้ชั่วคราว และครัวเรือนต้องกลับมาชำระหนี้จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่มีความท้าทายทั้งด้านจัดการหนี้และการใช้จ่ายโดยเฉพาะครัวเรือนที่มีสภาพคล่องจำกัด ขณะที่รายได้ภาคครัวเรือนก็น่าจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ตามตลาดแรงงานที่ได้รับผลกระทบหนักและฟื้นตัวกลับมาไม่ง่าย เพราะงานหลายประเภทโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวลดลงไปมากและจะฟื้นตัวช้า

“ครัวเรือนที่มีหนี้สูงจะปรับลดการใช้จ่ายและลดการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นไปพร้อม ๆ กับการเพิ่มรายได้ เพื่อให้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ปรับลดลง ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยจะใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี เป็นข้อจำกัดต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่สำคัญในระยะข้างหน้า โดยในช่วงที่ภาวะหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงนี้จะส่งผลทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มคงอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน  คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ระดับ 0.5% ต่อเนื่องในช่วงปี 65-66 ก่อนมีโอกาสปรับขึ้นได้ในช่วงปี 67 และจะเป็นการปรับขึ้นอย่างช้า ๆ”

นอกจากนี้ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา คำค้นหากูเกิล เทรนด์ เกี่ยวข้องกับเงินกู้ เงินด่วน มีจำนวนมาก อาจเป็นได้ทั้งหนี้ในและนอกระบบ โดยความต้องการที่ยังสูงของผู้บริโภคต่อสินเชื่อเพื่อนำมาเป็นสภาพคล่องใช้จ่ายในช่วงที่รายได้ซบเซา อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินส่วนใหญ่ยังคงระมัดระวังในการให้สินเชื่อโดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย ทำให้ความต้องการสินเชื่อที่ยังมีสูงอาจไม่ได้ถูกเติมเต็มได้อย่างครอบคลุมด้วยสินเชื่อในระบบ จึงมีความเสี่ยงที่บางส่วนอาจต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยที่สูงกว่ามาก อาจเกิดปัญหาภาระหนี้สินล้นพ้นตัวได้ในอนาคต