นายฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม และโฆษกกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีรังสิต ซึ่งจากการสอบถามประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ระบบขนส่งเสริม (Feeder System) ยังไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ และสถานที่จอดรถยนต์บริเวณสถานี โดยขณะนี้ทุกหน่วยงานได้จัดทำแผน และเตรียมดำเนินการแล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชน

นายฤชนนท์ กล่าวต่อว่า กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้จัดเตรียมแผนเพิ่มจำนวนการเดินรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะ โดยจะเข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกจังหวัดปทุมธานี ภายในเดือน ก.ค. 67 เบื้องต้นจะให้เอกชนเดินรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะเพิ่มอีก 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางที่ 1 วงกลมรังสิต เส้นทางที่ 2 รังสิต–มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต เส้นทางที่ 3 รังสิต–โรงพยาบาลกรุงสยามเซนต์คาร์ลอส และเส้นทางที่ 4 รังสิต-คลอง 7 หากที่ประชุมเห็นชอบจะเสนอให้ รมว.คมนาคมพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ รฟท. มีแผนปรับปรุงพื้นที่ เพื่อให้มีสถานที่จอดรถเพิ่มเป็น 200-300 คัน จากปัจจุบันจอดได้ 100 คัน พร้อมทั้งเร่งดำเนินการพัฒนาแผนการก่อสร้างเป็นอาคารจอดรถยนต์เพิ่มเติมต่อไป

นายฤชนนท์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันที่สถานีรังสิต มีรถโดยสารสองแถวขนาดเล็ก สีแดง และสีเขียว จำนวน 4 เส้นทาง วิ่งให้บริการตั้งแต่เปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง ได้แก่ เส้นทาง 6188 รังสิต-จารุศร เส้นทาง 1008 รังสิต-อำเภอหนองเสือ เส้นทาง 1116 รังสิต-สถานีรถไฟเชียงราก และเส้นทาง 381 รังสิต–องครักษ์ ซึ่งพบว่ายังไม่เพียงพอ โดยจากการผลักดันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม นำร่อง 2 โครงการ คือ 1.โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จำนวน 10 สถานี และช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน 4 สถานี และ 2. โครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ จำนวน 16 สถานี ส่งผลให้มีประชาชนเข้ามาใช้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายเพิ่มมากขึ้น.