สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ว่า นายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐ เผยแพร่รายงานว่าด้วยสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ “ทิป รีพอร์ต” ประจำปีนี้ โดยในส่วนของไทยยังคงอยู่ที่ระดับ “เทียร์ 2” เป็นปีที่สามติดต่อกัน


บลิงเคนกล่าวในรายงาน ว่าแม้การดำเนินงานของรัฐบาลไทยในเรื่องนี้ “ยังไม่ถึงมาตรฐานขั้นต่ำ” ของการปราบปรามการค้ามนุษย์ แต่รัฐบาลวอชิงตันเล็งเห็นความพยายาม และความมุ่งมั่นที่ต่อเนื่องของทางการไทย ที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รวมถึงการแก้ไขกฎหมายลงโทษผู้เกี่ยวข้องให้มีความรุนแรงมากขึ้น การเพิ่มการค้นหาและยืนยันตัวตนของผู้ที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ โดยมีการจัดตั้งศูนย์ระบุตัวตนเหยื่อการค้ามนุษย์เพิ่มอีก 13 แห่ง และการเพิ่มองค์ความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ สหรัฐจึงยังคงให้ไทยอยู่ที่ระดับเทียร์ 2


อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐมีข้อเสนอแนะหลายอย่าง รวมถึงการให้รัฐบาลไทย “ดำเนินนโยบายเชิงรุกมากขึ้น” ในการดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายการค้ามนุษย์ และการเพิ่มความพยายามป้องกันและปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์เพื่อการฉ้อโกงออนไลน์ หรือ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ไม่ให้เข้ามาตั้งสำนักงานในไทย หรือใช้ไทยเป็นทางผ่าน


ขณะที่สถานการณ์ภาพรวมทั่วโลกตามรายงานของสหรัฐ ระบุว่า ราว 27 ล้านคน ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ และขบวนการมิจฉาชีพใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือล่อลวงมากขึ้น


ด้านประเทศซึ่งสหรัฐยังคงจัดอันดับให้อยู่ในเกณฑ์ต่ำที่สุดของสถานการณ์การค้ามนุษย์ คือ เทียร์ 3 ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐ ซึ่งรวมถึง จีน รัสเซีย เกาหลีเหนือ อิหร่าน อัฟกานิสถาน คิวบา ซีเรีย เอริเทรีย ซูดาน ซูดานใต้ และเวเนซุเอลา


ส่วนเวียดนามได้รับการยกอันดับจากเทียร์ 3 ขึ้นมาสู่เทียร์ 2 เนื่องจากมีการฟ้องร้องดำเนินคดีผู้กระทำผิดมากขึ้นอย่างมาก และมีการลดอันดับบรูไนลงสู่เทียร์ 3 เป็นครั้งแรก ด้วยเหตุผลว่า บรูไนไม่ได้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์ต่อเนื่อง 7 ปีแล้ว และยังมีการผลักดันเหยื่อของการค้ามนุษย์ออกนอกประเทศ โดยไม่ให้ความช่วยเหลือ


อย่างไรก็ตาม จีนและรัสเซีย “ไม่ให้ความสำคัญ” กับการจัดทำทิป รีพอร์ต ของสหรัฐ โดยกระทรวงการต่างประเทศจีนเคยกล่าวว่า “เป็นการใช้กฎหมายของตัวเอง ตั้งบรรทัดฐานเพื่อวิจารณ์กิจการภายในประเทศอื่น” และรัฐบาลมอสโกกล่าวว่า “ไม่มีนโยบายปฏิบัติตามคำแนะนำของบุคคลภายนอก” เพื่อจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์.

เครดิตภาพ : AFP