เมื่อสัปดาห์ นี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กางตัวเลขของชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-พฤษภาคม) มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้อนุญาตให้นักลงทุนเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 317 ราย เงินลงทุนสะพัดกว่า 54,958 ล้านบาท มีการจ้างแรงงานไทยมากถึง 1,212 คน

สำหรับประเทศ ญี่ปุ่นยังคงครองแชมป์ลงทุนเป็นอันดับที่ 1 รองลงมาเป็นฮ่องกง และ จีน ตามลำดับ ส่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC มีจำนวน 99 ราย เพิ่มขึ้นถึง 106% จากปีที่แล้ว มีมูลค่าการลงทุนรวม 18,224 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 93% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566

1. ญี่ปุ่น จำนวน  84 ราย คิดเป็นร้อยละ 26 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุนรวม 40,214 ล้านบาท โดยลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับ 

  – ธุรกิจโฆษณา

  – ธุรกิจบริการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการผลิตคอมพาวด์ โพลิเมอร์

  – ธุรกิจบริการเคลือบผิว (SURFACE TREATMENT)

  – ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ เช่น ระบบควบคุมการผลิตในโรงงาน และระบบจัดการคลังสินค้า เป็นต้น

  – ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชุดเกียร์สำหรับยานพาหนะและชิ้นส่วนชุดเกียร์/AIR COMPRESSOR/ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และยานพาหนะ)

2. สิงคโปร์ จำนวน 51 ราย คิดเป็นร้อยละ 16 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย มีเงินลงทุน 5,189 ล้านบาท ลงทุนในธุรกิจ เช่น 

 – ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาแนะนำในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและซอฟต์แวร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การให้บริการติดตั้งเครื่องจักร และการแก้ไขปัญหา เพื่อลดการขัดข้องของเครื่องจักร เป็นต้น

  – ธุรกิจโฆษณา โดยการให้ใช้พื้นที่บนเว็บไซต์

  – ธุรกิจบริการด้านการออกแบบและพัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์ (Software) ที่ใช้สำหรับจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ

  – ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ เช่น ซอฟต์แวร์จัดการร้านอาหารและสั่งอาหาร เป็นต้น

  – ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (เครื่องใช้ไฟฟ้า/ชิ้นส่วนยานพาหนะ/ แม่พิมพ์)

3. สหรัฐอเมริกา จำนวน 50 ราย คิดเป็นร้อยละ 16 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ มีเงินลงทุน 1,196 ล้านบาท ลงทุนในธุรกิจ เช่น 

  – ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม

  – ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย/เครื่องมือแพทย์/เครื่องจักรที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม)

  – ธุรกิจโฆษณา

  – ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาและแนะนำในการประกอบธุรกิจ เช่น การบริหารจัดการธุรกิจ, การบริหารทรัพยากรบุคคล และการจัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น

  – ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (พวงมาลัยรถยนต์/DRUM BRAKE ASSEMBLY)

 4. จีน จำนวน 38 ราย คิดเป็นร้อยละ 12 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ มีเงินลงทุน 5,485 ล้านบาท ลงทุนในธุรกิจประเภท

  – ธุรกิจบริการที่ให้แก่บริษัทในเครือ หรือบริษัทในกลุ่ม (บริการให้เช่าพื้นที่อาคารโรงงาน)

  – ธุรกิจการจัดหาจัดซื้อ วัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นอุตสาหกรรมเหล็กหรืออุตสาหกรรมที่ใช้เหล็กเป็นส่วนประกอบเพื่อค้าส่งในประเทศ เป็นต้น

  – ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือให้บริการเช่น ระบบวิเคราะห์ข้อมูลจากการสนทนา ระบบตอบกลับสนทนาอัตโนมัติ เป็นต้น

  – ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (โฟมสำหรับยานพาหนะ/โลหะหล่อขึ้นรูป/ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์)

  – ธุรกิจบริการให้ใช้ช่วงสิทธิแฟรนไชส์ (Franchising) เพื่อประกอบธุรกิจการขายอาหารและเครื่องดื่ม

5. ฮ่องกง จำนวน 28 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย มีเงินลงทุน 12,048 ล้านบาท ลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับ

  – ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (เครื่องฉีดขึ้นรูป/ฟิล์มไวแสง)

  – ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน (SOFTWARE PLATFORM) ซึ่งเป็นการให้บริการแพลตฟอร์มกลาง ในการจัดการและเชื่อมโยงข้อมูลผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว

  – ธุรกิจบริการออกแบบทางวิศวกรรม ก่อสร้าง ติดตั้ง ทดสอบการใช้งานระบบ การซ่อมแซม บำรุงรักษาแผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์ต่างๆ เกี่ยวกับระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์

  – ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (แม่พิมพ์/เลนส์ เลนส์สัมผัส (Contact Lens) กรอบแว่นตา แว่นตา/ชิ้นส่วนสำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์)

  – ธุรกิจบริการ CLOUD SERVICES โดยเป็นการให้บริการในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (INFRASTRUCTURE-AS-A-SERVICE)