“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อเสนอแนะใดๆ จากคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก กลับมายังการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หลังจากที่ รฟท. ได้ส่งรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment : HIA)  ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เชื่อมโยงกับสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ในโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ระยะ (เฟส) ที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ไปให้คณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาว่าจะต้องมีการปรับแก้ใดๆ เพิ่มเติมอีกหรือไม่ ก่อนเสนอไปยังองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ต่อไป

เวลานี้ รฟท. ยังกำหนดกรอบเวลาไม่ได้ว่าสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งเป็นสัญญาที่มีการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา จะสามารถดำเนินการได้เมื่อใด ซึ่ง รฟท. พิจารณาแล้วมองว่าควรต้องรอความชัดเจนเรื่อง HIA ให้จบก่อนดำเนินการใดๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง ส่งผลให้ รฟท. ต้องชะลอการลงนามสัญญากับบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ผู้รับจ้างสัญญาที่ 4-5 ไปก่อน ทั้งนี้จากการเจรจากับเอกชนในเบื้องต้น ยังคงยืนราคาเดิม 10,325 ล้านบาท และยังไม่มีท่าทีที่จะถอย เวลานี้เอกชนก็ยังคงทำงานก่อสร้างในสัญญาอื่นของโครงการฯ อยู่

เรื่อง HIA ควรจะจบให้ได้ภายในปี 67 มิฉะนั้นจะกระทบกับภาพรวมการก่อสร้างทั้งโครงการฯ ที่จะทำให้การก่อสร้าง และการเปิดให้บริการล่าช้าจากแผนงานที่วางไว้ว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 71 โดย รฟท. มีเป้าหมายที่ต้องการให้โครงการดังกล่าว ได้เปิดให้บริการให้ได้ตามแผนงาน ก่อนการจัดมหกรรมพืชสวนโลก นครราชสีมา 2572 หรือ Korat Expo 2029 ที่ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าวที่จังหวัดนครราชสีมา ในระหว่างวันที่ 10 พ.ย. 72-28 ก.พ. 73 เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวด้วย

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. มี 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ปัจจุบันภาพรวมการก่อสร้างมีความคืบหน้า 33.44% ล่าช้า 33.06% โดยสัญญาที่ 1-1 สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. และสัญญาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. ก่อสร้างแล้วเสร็จ 100%, สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. คืบหน้า 0.43%, สัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง ระยะทาง 12.2 กม. คืบหน้า 66.32%, สัญญาที่ 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.1 กม. คืบหน้า 51.19%, สัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 69.11 กม. คืบหน้า 75.97%,

สัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.3 กม. คืบหน้า 7.62% ต้องมีการปรับแบบใหม่ ช่วงบริเวณโคกกรวด-บ้านใหม่ ระยะทางประมาณ 7 กม. เป็นทางยกระดับแทนทางระดับดิน ใช้งบประมาณเพิ่มอีกกว่า 4,000 ล้านบาท จากเดิม 7,750 ล้านบาท คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. พิจารณาได้ในเดือน ก.ค. 67, สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. อยู่ระหว่างรอการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เนื่องจากเป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกัน คาดว่าจะจบภายในปี 67

สัญญาที่ 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.8 กม. คืบหน้า 0.32%, สัญญาที่ 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. คืบหน้า 33.46%, สัญญาที่ 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย คืบหน้า 12.24%, สัญญาที่ 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.6 กม. คืบหน้า 2.62% และสัญญาที่ 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.9 กม. คืบหน้า 54.65% ส่วนสัญญา 2.3 งานออกแบบ จัดหา ติดตั้งระบบราง และระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งดำเนินการโดยฝ่ายจีน คืบหน้า 0.92%.