หลังจากเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัว “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” อดีตผู้บริหาร บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK กลับมาดำเนินคดีที่ประเทศไทยได้สำเร็จ หลังหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศนานเกือบ 1 ปี ทำให้คดีของ STARK กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังจากคดี STARK สร้างความสั่นสะเทือนตลาดทุนไทยครั้งสำคัญ

หากย้อนตำนาน เรียกว่าเป็น มหากาพย์คดีโกงหุ้น STARK ที่เป็นการปฏิบัติการโกงครั้งใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย จนเกิดวิกฤติเชื่อมั่นในตลาดทุน

จุดเริ่มต้นของบริษัท STARK มาจากการเข้าไปซื้อกิจการ Phelps Dodge ของ “วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” ทายาทสี TOA ที่ครั้งหนึ่งประสบปัญหาขาดทุนหนัก จนเข้ามาซื้อกิจการพลิกเป็นกำไรได้ และมีแผนเข้าตลาดหุ้น ใช้วิธีให้ บริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM เข้าซื้อกิจการ Phelps Dodge

แต่ SMM สภาพคล่องเงินสดไม่พอจึงได้ออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับ “วนรัชต์” มูลค่า 12,900 ล้านบาท ทำให้ “วนรัชต์” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ SMM จนเปลี่ยนชื่อเป็น STARK ในเวลาต่อมา

ปัญหาของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK เกิดจากการส่งงบการเงินไม่ได้ จนเกินข้อสงสัยขึ้น และขอเลื่อนมาเรื่อยๆ จนกระทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องขึ้นเครื่องหมาย “SP” พักการซื้อขายชั่วคราว

จนกระทั่ง STARK รายงานงบการเงินประจำปี 2565 ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ จากกำไรสุทธิ กลายเป็นขาดทุนสุทธิ

ช่วงเวลาที่หุ้นถูกพักการซื้อขายเป็นเวลา 3 เดือน ก็มีรายงานว่า “ชนินทร์” ที่นั่งประธานกรรมการ STARK ในเวลานั้น นำทีมกรรมการรวม 7 คน ยื่นลาออกจาก “บอร์ด STARK” และหนึ่งในนั้นก็มี “ศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ” ด้วย โดยมี “วนรัชต์” ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ รับตำแหน่งเป็นรักษาการผู้บริหารสูงสุดแทน พร้อมกับออกมายอมรับว่า บริษัทอาจมีการฉ้อโกงทางบัญชีเกิดขึ้นจริง

ต่อมา STARK แจ้งว่าได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ “กรมสอบสวนคดีพิเศษ” (DSI) เพื่อติดตามทรัพย์สินของบริษัทคืน รวมถึงบริษัทได้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ

กรมสอบสวนคดีพิเศษออกหมายเรียกผู้ต้องหาคดี STARK ได้แก่ “ชนินทร์” และ “ศรัทธา” ให้มารับทราบข้อกล่าวหา นัดหมายวันที่ 6-7 ก.ค. 2566 ที่กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากพบพยานหลักฐานมีพฤติการณ์ตกแต่งบัญชี และได้รับผลประโยชน์

จากนั้น ก.ล.ต. ส่งเรื่องให้ DSI กล่าวโทษ กลุ่มอดีตผู้บริหาร STARK รวม 11 ราย ซึ่งรวมถึง “ชนินทร์” กรณีตกแต่งงบการเงินของ STARK ในช่วงปี 2564-2565 เปิดเผยข้อความอันเป็นเท็จในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และกระทำโดยทุจริตหลอกลวง ทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง อีกทั้งได้ส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดยมีผู้เสียหายรวม 4,704 ราย เป็นมูลค่าความเสียหาย 14,778 ล้านบาท

DSI ออกหมายจับ “ชนินทร์” หลังพบการข่าวรายงานหลบหนีออกนอกประเทศ ทางด้าน ก.ล.ต. ก็มีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำผิด และห้ามมิให้ออกนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว มีกำหนด 15 วัน 

ก่อนที่ DSI เปิดเผยความคืบหน้าคดีโดยพนักงานสอบสวน ได้สอบสวนเส้นทางการเงินและอายัดบัญชีในบริษัทหลักทรัพย์เครดิตสวิส ของ “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” ซึ่งมีวงเงินเหลือเท่ากับ 220 ล้านบาท เป็นการอายัดเพิ่มเติมจากเคยอายัดที่ดิน 2 แปลง และบ้าน 1 หลังแล้ว

เมื่อพนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีทุจริตใน STARK ซึ่งมี “ศรัทธา” 

หลังประทับรับฟ้องแล้ว “ศรัทธา” (จำเลยที่ 1) ได้ยื่นคำร้องหลักทรัพย์เป็นเงินสด 10 ล้านบาท ขอปล่อยชั่วคราว ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้ว คดีนี้ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการแห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง มีลักษณะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม มูลค่าความเสียหายจำนวนมาก หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยที่ 1 จะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง 

ขณะที่ต่อมา “วนรัชต์” ถูกควบคุมตัวโดยอัยการส่งฟ้องศาล และศาลไม่ให้ประกันตัว แม้เจ้าตัวให้การปฏิเสธ จากนั้นถูกส่งต่อเข้าเรือนจำทันที โดยศาลพิจารณาแล้ว ลักษณะการกระทำความผิด สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม มูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม การถูกควบคุมตัวมายังประเทศไทยของ “ชนินทร์ เย็นสุดใจ” ต้องติดตามว่าสุดท้ายจะเป็นอย่างไร เพราะในเวลานี้เจ้าตัวยังปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา