เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีต รอง ผบ.ตร. พร้อมทนายความส่วนตัว เดินทางมาตามศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง ในคดีหมายเลขดำ ที่ อ.558/2567 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก.ในข้อหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา 

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เปิดเผยว่า ตนมาตามนัดศาลในคดีที่ตนได้ฟ้อง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ในเรื่องหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ที่ตนได้ทำการฟ้องไว้ 2 กรรม และวันจันทร์หน้าก็มีอีก 1 คดี เป็นอีก 1 กรรม ที่ศาลนัดไต่สวนเช่นกัน โดยทนายของตนได้แจ้งว่าทนายของพล.ต.ต.จรูญเกียรติ ได้ขอเลื่อนไม่มาในวันนี้ จึงคาดว่าจะได้ไต่สวนกันในนัดหน้า เมื่อถามว่าทำไมถึงเป็นเรื่องจงใจใส่ความหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณานั้น คือ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ หรือผู้ที่ถูกฟ้องได้นำข้อเท็จจริงในสำนวนไปเปิดเผยต่อสื่อและนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณะ ซึ่งในหลักกฎหมายคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดที่ตนถูกกล่าวหา พล.ต.ต.จรูญเกียรติ มีหน้าที่เป็นแค่รองหัวหน้าพนักงานสอบสวน ที่ต้องทำตามอำนาจ พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 มาตรา 48 กรณีที่มีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิด ทางพนักงานสอบสวนมีหน้าที่แค่รวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นและต้องส่งสำนวนไปให้ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจในการให้ข่าวกับสื่อมวลชนเกี่ยวกับการวินิจฉัยหรือพิพากษาคดี ทำให้สังคมตัดสินตนว่าเป็นผู้กระทำความผิด และทุจริตต่อหน้าที่หรือเรียกรับผลประโยชน์ฐานฟอกเงิน ซึ่งถือเป็นการใส่ความต่อบุคคลที่ 3 ตนจึงได้ยื่นฟ้องเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ตนเอง

สำหรับคดีของตนและ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.นั้น อยู่ในชั้นของ ป.ป.ช. ทั้งหมด ซึ่งอยู่ในขั้นตรวจสอบข้อเท็จจริง หากมีมูลก็จะมีการไต่สวน และหากพบความผิดก็จะมีการแจ้งข้อกล่าวหา แต่หาก ป.ป.ช. ยังไม่ชี้มูลก็ถือว่ายังไม่มีความผิด ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 29 (2) ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดถือว่าผู้นั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ 

ส่วนกรณีคำสั่งที่ให้ตนออกโดยมิชอบทางกฎหมายนั้นตามมาตรา 131 ของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ซึ่ง ผบ.ตร.สามารถให้ตำรวจออกจากราชการได้ในเงื่อนไข 3 ข้อ 1.ต้องคดีอาญา 2.ถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง 3.ถูกฟ้องคดีอาญา ซึ่งตนเข้าข่ายใน 2 เงื่อนไขแรก เช่น ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับเดิม เช่น หากตำรวจไปยิงคนตาย และถูกแจ้งข้อหา ผบ.ตร.จะสามารถสั่งให้ออกจากราชการได้ทันที โดยถือว่าเป็นการให้ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนก่อน และจะต้องให้คณะกรรมการสอบสวนมีข้อเสนอแนะนำชี้ว่า มีความผิดหรือไม่ หลังจากนั้นทาง ผบ.ตร.ถึงจะสามารถเซ็นให้ออกได้ แต่กรณีของตน ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือส่งตัวกลับไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น

เมื่อทาง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงแก่ตน จะให้ตนออกเลยไม่ได้ ต้องรอผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงตามมาตรา 120 (4) เพราะฉะนั้นกรรมการสอบสวนซึ่งมี พล.ต.อ.สราวุฒิ การพานิช รอง ผบ.ตร. ซึ่งเป็นคณะกรรมการลงความเห็นนั้น ต้องมีข้อเสนอแนะว่าเห็นควรให้ออกหรือไม่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ จึงจะเซ็นให้ตนออกได้ โดยในส่วนของตนถูกตั้งกรรมการสอบในวันที่ 17 เม.ย. และถูกให้ออกจากราชการในวันที่ 18 เม.ย. โดยไม่มีการเรียกตนไปสอบสวนด้วย ถือเป็นการฟังความข้างเดียว ส่งผลให้กฤษฎีกาลงความเห็นว่าเป็นการให้ออกโดยมิชอบ โดยคำสั่งที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ยื่นให้นายกฯ ขึ้นกราบทูล ภายหลังมีการนำเข้ากฤษฎีกา แต่ทางกฤษฎีกาได้ตีกลับมาให้แก้ไขคำสั่งดังกล่าว ซึ่งหากยังประวิงเวลา ตนจะทำหนังสือถึง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขหรือเพิกถอนให้ถูกต้องตามกฎหมาย และหากยังมีการประวิงเวลาต่ออีก ตนจะทำการยื่นฟ้อง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ในสัปดาห์หน้าเช่นกัน

ส่วนกรณีที่มีกูรูท่านหนึ่งได้ออกมาให้ความเห็นกับ รรท.ผบ.ตร. และผบ.ตร. ว่าไม่ต้องเชื่อคำวินิจฉัยของกฤษฎีกา ถือเป็นการโน้มน้าว ระวังจะเข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิด นอกจากนี้กรณีที่นายกฯ ส่งเรื่องกลับไปที่คณะกรรมการ อนุ ก.ตร. โดยอนุ ก.ตร.มีความเห็นว่าออกโดยชอบ ซึ่งอำนาจของอนุ ก.ตร. มีหน้าที่แค่วินิจฉัยได้เฉพาะว่า ผบ.ตร. มีอำนาจหรือไม่ ไม่มีอำนาจในเรื่องอุทธรณ์ ร้องทุกข์ รวมถึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่ามีความชอบธรรมหรือไม่ โดยคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมฯ มีอำนาจในการไต่สวน โดยมีให้ตนและพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เข้าไปชี้แจงต่อคณะกรรมการ แต่ อนุ ก.ตร.ฟังความข้างเดียว ไม่ได้มีการเรียกตนไปไต่สวน
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ตนได้ร่างหนังสือถึงนายกฯ ไว้ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. เพื่อให้นำเข้าพิจารณาในการประชุม ก.ตร. ให้ถอนคำสั่ง ซึ่งตัวนายกฯ เป็นทั้งประธาน ก.ตร. และเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งการ ผบ.ตร. เมื่อทราบว่าคำสั่งดังกล่าวว่าไม่สมบูรณ์ และ ผบ.ตร. ปฏิบัติไม่ถูกต้อง นายกฯ จะต้องมีคำสั่งให้ ผบ.ตร. เพิกถอน แต่หากนายกฯ ละเลย เพิกเฉย ตนก็จะดำเนินคดีในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วย 

เมื่อถามว่ากฤษฎีกานั้นไม่มีผลต่อกฎหมายใช่หรือไม่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า แน่นอนว่าไม่มีผลต่อกฎหมาย แต่เป็นกฎหมายของรัฐบาลและศาลยังต้องรับฟัง โดยองค์คณะกฤษฎีกา มีทั้งอดีตประธานศาลฎีกา อดีตเลขากฤษฎีกา และปลัดกระทรวงยุติธรรม โดยคำวินิจฉัยของกฤษฎีกา 10 ต่อ 0 ถือเป็นที่สิ้นสุด 

ต่อข้อถามว่าจะกลับมาเป็นตำรวจอีกเมื่อไหร่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ตอบว่า ไม่รู้ ยังตอบไม่ได้ จะกลับหรือไม่ ก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย วันนี้ตนพยายามชี้ให้เห็นว่าเรากำลังยึดหลักกฎหมาย ซึ่งถ้าตนยังให้ความยุติธรรมตนเองไม่ได้จะไปให้ความยุติธรรมกับตำรวจและประชาชนได้อย่างไร อย่างนั้นจะมี พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติไว้ทำไม 

“ผมมาต่อสู้หากกลับไปดำรงตำแหน่งจะต้องดูว่าตำรวจที่ถูกออกราชการ 70-80 คน ถูกให้ออกจากราชการแบบถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้องก็จะนำทั้งหมดกลับมา นิสัยผมเป็นคนชอบต่อสู้ตามกระบวนการ ในอดีตก็เคยยื่นฟ้องอดีตนายกฯ ท่านหนึ่งมาแล้ว”

ทั้งนี้ในเวลา 11.00 น. ตนจะเดินทางไปที่สำนักงาน ป.ป.ช.เพื่อยื่นฟ้องแก่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ และผู้การกองวินัย ผู้บัญชาการกองกฎหมาย เพื่อดำเนินคดีข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือ ม.157 ด้วย