อโรคยา ปรมาลาภา” ….ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ

พุทธภาษิตที่หลายคนเน้นย้ำเตือนกับตัวเอง แต่ธรรมชาติของมนุษย์เรื่อง “เกิดแก่เจ็บตาย” ทุกคนหนีไม่พ้น

 เมื่อร่างกายเรา “เจ็บไข้ได้ป่วย” ก็ต้องไปโรงพยาบาล หาหมอหรือแพทย์เพื่อทำการรักษา

แต่หลายคนที่ไปหาหมอที่ไม่ใช่โรงพยาบาลที่ใช้บริการรักษาเป็นประจำ หรือเกิดเหตุฉุกเฉินจำเป็น จะต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วนในโรงพยาบาลที่ไม่เคยเข้ารับการรักษามาก่อน ก็จะถูกสอบถามข้อมูลสุขภาพ เช่น มีโรคประจำตัวอะไรมั้ย เคยผ่าตัด และรักษาโรคอะไรมาบ้าง เคยแพ้ยาอะไรหรือไม่?

หรือในกรณีเป็นผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อมารักษาอีกโรงพยาบาลก็ต้องนำข้อมูลสุขภาพและประวัติการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลต้นทางมาด้วย

ประวัติข้อมูลกาiรักษาพยาบาล จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะต้องใช้ประกอบการวินิจฉัย และการวางแผน รักษาของหมอ เพื่อให้การรักษาพยาบาล ไม่ผิดพลาดและมีประสิทธิภาพได้ผลสูงสุด และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นฟู จากการเจ็บป่วยได้ดีขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องนี้จะหมดไปหากข้อมูลประวัติผู้ป่วยของโรงพยาบาลต่างๆถูกลิงค์เชื่อมโยงข้อมูลกันทาง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที   จึงได้ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์ และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (จีบีดีไอ) ในสังกัดสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า พัฒนาบริการ เฮลท์ลิงค์ (Health Link) ซึ่งเป็นระบบ เชื่อมโยงข้อมูลประวัติการรักษาผู้ป่วยสถานพยาบาลรัฐ-เอกชน ขึ้นมา เพื่อช่วยแก้ปัญหานี้

“ดร.ธีรณี อจลากุล” ผู้อำนวยการสถาบัน จีบีดีไอ  บอกว่า การพัฒนาระบบเชื่อมโยงสุขภาพในระดับประเทศ ที่ผ่านมาเกิดได้ยาก โดยโจทย์สำคัญคือการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล  ซึ่งโรงพยาบาลต่างมีระบบ เก็บข้อมูลผู้ป่วยของตัวเองหลากหลายรูปแบบที่แตกต่าง  การแลกเปลี่ยนหรือส่งต่อข้อมูลมีขั้นตอนซับซ้อนและใช้เวลา เป็นอุปสรรคต่อการรักษาผู้ป่วยข้ามโรงพยาบาล เคสฉุกเฉินหรือการส่งผู้ป่วยข้ามจังหวัด ทำให้การรักษาล่าช้าและ ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร  

“ระบบ เฮลท์ลิงค์ ที่พัฒนาขึ้นได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 120 ล้านบาท ถูกออกแบบรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่ของโรงพยาบาล ทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ  เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนามาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสุขภาพของประเทศไทย ให้มีมาตรฐานในระดับสากล  ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านข้อมูลสุขภาพของประเทศในภาพรวม  โดยตอนนี้มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ และพร้อมให้ประชาชนใช้งานแล้ว 40   แห่ง เช่น รพ.ศิริราช  รพ.รามาธิบดี รพ .จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รพ.ภูมิพล  รพ.ประจำจังหวัดต่างๆ รวมถึงโรงเรียนผลิตแพทย์ ในมหาวิทยาลัยของรัฐ ฯลฯ ซึ่งในสิ้นปีนี้จะขยายเพิ่มมากกว่า 100  รพ. ทั้งภาครัฐและของเอกชน และในอนาคตก็จะเพิ่มจำนวน รพ.ให้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

ดร.ธีรณี บอกต่อว่า สำหรับการเข้าถึงข้อมูลของผู้ป่วย หรือเรียกดูข้อมูลสุขภาพ จะทำได้เฉพาะแพทย์ ที่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม จากแพทยสภาเท่านั้น และปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้นโดยต้องได้รับการคัดเลือกจากโรงพยาบาลที่สังกัดอยู่ด้วย ขณะที่ผู้ป่วยที่ต้องการให้เชื่อมโยงข้อมูล จะต้องสมัครแจ้งความประสงค์ให้โรงพยาบาลส่งข้อมูลประวัติการรักษาของตนเองเข้าระบบก่อน เนื่องจากข้อมูลผู้ป่วยถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูล และต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป

เมื่อระบบนี้พร้อมใช้งานแล้ว หลายคนคงอยากรู้ตอนนี้มีคนใช้งานจำนวนเท่าไรแล้ว??

ภาพ pixabay

ดร.ธีรณี บอกว่าปัจจุบันมีคนไทยสมัครใช้บริการแล้ว 40,000   ราย สิ้นปี 65 ตั้งเป้าหมาย จะมีคนไทยสมัครใช้บริการมากกว่า 1 ล้านราย ซึ่งผู้สนใจสามารถสมัครใช้บริการ ผ่านทางแอพพลิเคชัน “เป๋าตัง” เลือกเมนู “กระเป๋าสุขภาพ” กดเลือก “Health link”  โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ และสามารถเลือกได้ว่าจะให้แพทย์ เข้าถึงข้อมูล สุขภาพอะไรบ้าง สามารถดูข้อมูลได้ที่ www.healthlink.go.th/patientinstruction

อย่างไรก็ตามหลายคนๆอาจมีคำถามถึงความปลอดภัยของข้อมูล หลังจากที่ผ่านมามีข่าวโรงพยาบาลของรัฐถูก “โจรไซบอร์”แฮกข้อมูลไป!!! ระบบนี้จะปลอดภัยแค่ไหน?

ในเรื่องนี้ ทาง“ดร.วงกต วิจักขณ์สังข์สิทธิ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจดิจิทัล  ของเอ็นที บอกว่า  ระบบได้รับการพัฒนาอยู่บนคลาวด์ของเอ็นทีได้มาตรฐานสากลด้านความปลอดภัย ISO 27001 นอกจากนี้ยังได้รับ การปกป้องความปลอดภัยของระบบและความลับข้อมูลด้วยกลไกที่เข้ารหัสข้อมูลตลอดเส้นทางและการจัดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นความลับอย่างดี ทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีบุคคลภายนอกสามารถ เปิดอ่านข้อมูลได้ระหว่างทาง

 และยังมีบันทึกรายละเอียดประวัติการทำกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นบนระบบโดยอัตโนมัติ และระบบได้ออกแบบ ในส่วนของ Privacy ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

อย่างไรก็ตามโครงการนี้ภาครัฐต้องการยกระดับการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของคนไทยให้เกิดขึ้นและใช้ประโยชน์ได้จริง แต่ก็ให้เป็นไปโดยความสมัครใจของผู้ป่วยหรือเจ้าของข้อมูล

สุดท้ายแล้วเรื่อง “โรคภัยไข้เจ็บ” เราไม่มีทางรู้ว่าจะมาเยี่ยมเยียนถามหาเราเมื่อไร ด้วยโรคอะไร หนักเบาแค่ไหน การดูแลสุขภาพตัวเอง  ทานอาหารถูกหลักโภชนาการ ออกกำลังกายเสมอๆ และหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ จะช่วยให้เราลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บได้แน่นอน.

จิราวัฒน์ จารุพันธ์