“กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)” ประเมินเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 36.50-37.10 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 36.65 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 36.60-36.85 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ยอดค้าปลีกเดือน พ.ค. ของสหรัฐ ออกมาต่ำกว่าคาดและมีการปรับทบทวนตัวเลขของเดือน เม.ย. ลดลงจากเดิม บ่งชี้การบริโภคชะลอตัวและสนับสนุนการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน ก.ย.

ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ได้แรงหนุนสำคัญจากความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการเงินและการคลังนอกสหรัฐ เป็นสำคัญ โดยเงินเยนและเงินยูโรแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 8 สัปดาห์ และ 7 สัปดาห์ ตามลำดับ ทางด้านธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) คงดอกเบี้ยที่ระดับสูงสุดในรอบ 16 ปีที่ 5.25% แต่ผู้กำหนดนโยบายบางรายระบุว่าการตัดสินใจในครั้งนี้เป็นไปอย่างก้ำกึ่ง ปูทางไปสู่โอกาสการปรับลดดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษชะลอสู่กรอบเป้าหมายที่ 2% แล้ว ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 10,680 ล้านบาท และ 8,609 ล้านบาท ตามลำดับ

“กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรีฯ” ให้ความเห็นถึงสถานการณ์ตลาดในสัปดาห์นี้ว่า นักลงทุนจะติดตามข้อมูลเงินเฟ้อ PCE พื้นฐานของสหรัฐ โดยมองว่าเงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากการที่นักลงทุนปรับสถานะเพื่อลดความเสี่ยงก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งในฝรั่งเศสวันที่ 30 มิ.ย. และวันที่ 7 ก.ค. เพื่อรอประเมินทิศทางเกี่ยวกับวินัยการคลังต่อไป

นอกจากนี้ ท่าทีของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่ยังคงระมัดระวังในการปรับนโยบายกลับสู่ภาวะปกติ รวมถึงการที่ผู้กำหนดนโยบายของจีน ยอมปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลง ล้วนเป็นประเด็นจำกัดแรงขายเงินดอลลาร์ในระยะนี้ แม้ว่าข้อมูลต่างๆ บ่งชี้ว่าภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจสหรัฐ กำลังลดความร้อนแรงลงก็ตาม

สำหรับปัจจัยในประเทศ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัด ทางด้านกระทรวงพาณิชย์รายงานยอดส่งออกเดือน พ.ค. ขยายตัว 7.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกแตะระดับสูงสุดรอบ 14 เดือน ส่วนมูลค่านำเข้าเดือน พ.ค. หดตัว 1.7% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 656 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ทางการคาดว่ายอดส่งออกในเดือน มิ.ย. จะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลต่อค่าระวางเรือ