เช่น กฎหมายรับรองเพศ และวาระที่เป็นวาระสากลเพื่อแสดงถึงความเป็นประชาคมโลก ขณะเดียวกัน วาระสากลที่ขับเคลื่อน จะได้รับผลประโยชน์ไปถึงชุมชน LGBTQ+ ด้วย ซึ่งเมื่อมองตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทุกประเทศต้องดำเนินการร่วมกันไปจนถึงปี พ.ศ.2573

การผลักดันวาระจะส่งผลสำเร็จได้ง่ายขึ้น ต้องมีการร่วมมือกัน ทั้งด้านการแลกเปลี่ยนความคิด แลกเปลี่ยนโครงการที่คิดว่า ตัวเอง หรือกลุ่มตัวเองมีศักยภาพในการทำได้ โดยพื้นที่หนึ่งที่น่าสนใจคือพื้นที่ “การประกวด” เช่น เวที Mr Gay world Thailand 2024 ก็เพิ่มมิติทางสังคมที่กลุ่ม LGBTQ+ สามารถมีส่วนช่วยพัฒนามากขึ้น เพิ่มความท้าทายมากขึ้นมากกว่าการเรียกร้องให้แก้ไขการเหยียด การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ หรือเรียกร้องให้มีกฎหมายที่เหมาะสม

แม้เป้าหมาย SDGs จะไม่มีเรื่องความหลากหลายทางเพศชัดเจนนัก แต่ผู้เข้าประกวดมองว่า เป้าหมายการพัฒนาบางอย่างถ้าประสบความสำเร็จก็จะแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากเหตุแห่งเพศร่วมกับเรื่องอื่น ๆ ได้ด้วย โดย “สุรปุย” หรือสุรชัย แสงสุวรรณ รองอันดับ 2 Mr Gay World Thailand 2024 ซึ่งเขาเองเป็นผู้ทำงานร่วมกับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ทำให้สุรปุยมองว่า ด้วยศักยภาพของเขาเองสามารถผลักดันเป้าหมายที่ 4 ด้านการศึกษา

สุรปุย เป็นช่างภาพแฟชั่นชื่อดัง “ผมทำแคมเปญชื่อ Art Drive DIVERSE มาได้ระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ทำร่วมกับศิลปินคนอื่นเพื่อกลุ่มเด็กพิเศษ คือกลุ่มเด็กดาวน์ซินโดรม แรงบันดาลใจมันมาจากการที่เราเคยเอาเขามาถ่ายแฟชั่น ได้เห็นเขาชอบ เขามีความสุข ก็คิดว่า เด็กกลุ่มนี้ก็มีศักยภาพ ถ้าเราส่งเสริมเขาได้ถูกทาง ก็เลยเริ่มจากการเปิดเพจ Down Syndrome Hero เด็ก- ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม ผมหวังว่า โครงการนี้มีส่วนในการสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยไม่มีเงื่อนไขในการที่เขาเป็นเด็กชายขอบ”

วิธีของ สุรปุย คือ การใช้ศิลปะ เพื่อดึงศักยภาพของเด็กกลุ่มนี้ออกมาให้มากขึ้น “มันคือพัฒนาการอย่างหนึ่ง ทั้งวาดภาพ แต่งหน้า ไปจนถึงให้เขาภูมิใจที่เขาใช้โซเชียลมีเดียอย่าง tiktok ของตัวเองได้  ในการประกวดเนี่ย เราก็เห็นว่า บางคนมีแคมเปญด้านการฝึกงานฝีมือ อย่าง “เอก-ภูปกาณฑ์ ประดุจชน” เขาก็เป็นช่างตัดเย็บชุดคอสเพลย์ หรือ “จีโน่-จิตศักดิ์ หลิมภากรกุล” เขาก็เป็นเชฟ ก็คุยกันว่า พวกเราจะทำอย่างไรที่จะฝึกเพิ่มทักษะให้เด็กกลุ่มนี้หลากหลายมากขึ้น อย่างจีโน่ก็ว่า สอนเด็กทำขนมง่าย ๆ แต่งหน้าสนุก ๆ อย่างคัพเค้กได้ ของเอกมีความน่าสนใจตรงที่ให้เขาออกแบบแพตเทิร์นเสื้อผ้า สีที่เขาอยากใส่เอง เพื่อให้ความ
เป็นเพศของเด็กพิเศษนี่ก็ได้รับการยอมรับ ไม่ใช่สิ่งที่ถูกทำให้พร่าเลือน”

สิ่งที่สำคัญคือ สภาพแวดล้อมในสถานศึกษาที่ต้องเอื้อต่อการศึกษาที่มีคุณภาพ  แม้ว่าในกลุ่มเด็กพิเศษอาจมีสถานที่เฉพาะ แต่ในกลุ่มเด็กพิเศษบางคนอาจต้องอยู่ในโรงเรียนปกติ หรือเด็กอ่อนแอ เด็กที่เป็น LGBT+ ก็เสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้ง เรื่องนี้  “กัณห์ กุลอัฐภิญญา” รองอันดับหนึ่ง Mr Gay World Thailand พยายามออกแบบการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก โดยจากการเก็บข้อมูล เขาพบว่า สภาพแวดล้อมที่สำคัญที่สุด คือการมีกลุ่มที่ต่อต้านการกลั่นแกล้งรังแกอยู่มากกว่ากลุ่มรังแก กัณห์ไม่เพียงแค่ศึกษาพื้นที่โรงเรียน แต่เขาก็มีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรอื่น ๆ เช่นสถานที่ทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของ “เป้ ภูษิต ช้างแก้วมณี” Mr Gay World Thailand 2024

เป้ ให้ความสำคัญกับ SDGs ข้อ 10 เกี่ยวกับการลดความไม่เสมอภาค เขาเคยเป็นหัวหน้างานเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพ (จป.) ซึ่งประเมินความเสี่ยงด้านอาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม วิเคราะห์อันตรายและนำเสนอมาตรการความปลอดภัย ที่ทำงานเดิม เขาพบว่า สิ่งแวดล้อมไม่ได้ปลอดภัยกับ จป.ที่เป็นผู้หญิงนัก และยังมีการเลือกปฏิบัติในการเลื่อนขั้น เขาออกแบบโครงการที่รวบรวมสถานที่ที่มีความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยผ่านการแชร์ข้อมูลกับบุคคลต่าง ๆ

“สำหรับผม ความเสมอภาค ไม่ใช่แค่มิติแห่งความเท่าเทียม แต่ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติต่อกันอย่างเหมาะสม อยู่ภายใต้การปฏิบัติอย่างเป็นธรรมภายใต้กฎเดียวกัน มีกฎพิเศษสำหรับคนที่ต้องใช้ เช่น การลาคลอด ไปจนถึงการกระจายทรัพยากรเป็นธรรม” ในเรื่องนี้ เป้ได้กัณห์มาช่วยศึกษาเรื่อง “สถานที่ปลอดภัยที่เป็นมิตร” ตามหลัก “UN Global Standard of
Conduct for business” ซึ่งเป็นแนวทางที่จัดทำโดยองค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ภาคธุรกิจดำเนินการในลักษณะเคารพสิทธิมนุษยชน รวมถึงสร้างสังคมที่มีความยุติธรรมและความเท่าเทียมมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ครอบคลุมหลายด้าน แม้กระทั่งการจัดการสิ่งแวดล้อม  มีการจัดการที่เป็นมิตร ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว

“ในส่วนการจัดสวัสดิการความเท่าเทียมทางเพศตามหลักที่ว่า คือ นโยบายจ้างงานที่เป็นธรรมครับ คือ ไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศในการจ้างงาน เลื่อนตำแหน่ง ขึ้นเงินเดือน รับรองความหลากหลายทางเพศในกระบวนการทำงาน มีการฝึกอบรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ มีการสนับสนุนกิจกรรมและโครงการที่ส่งเสริมความหลากหลายทางเพศและการยอมรับในที่ทำงาน ไปจนถึงการตั้งกลุ่มสนับสนุนเครือข่ายสำหรับพนักงาน LGBT+ ในส่วนของชายหญิงก็ต้องเท่าเทียม เช่น มีสถานที่และเวลาที่เหมาะสมสำหรับผู้หญิงที่ต้องเลี้ยงลูกเล็ก ให้เพศชายลาเพื่อไปช่วยเลี้ยงลูกได้” เป้ว่า ความเท่าเทียมมันเป็นเรื่องของทุกเพศ ไม่ใช่เพียงแต่ LGBT+ และเขาอยากให้แต่ละบริษัทในประเทศไทยมีการออกประมวลจริยธรรม หรือ code of conduct นี้เพื่อเป็นเครื่องรับประกันการป้องกันการเลือกปฏิบัติ

LGBT pride flag and blue sky background

สุรปุยสรุปว่า LGBT+ ในฐานะพลเมืองโลก ก็มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่บรรลุเป้าหมาย SDGs ได้ตามศักยภาพของตัวเอง เพราะในหลายเป้าหมายก็สามารถนำเรื่องความเท่าเทียมทางเพศไปจับได้ และเมื่อถามถึงสิ่งที่ท้าทายที่สุด ทั้งสุรปุย กัณห์ และเป้ มองว่า คือ ข้อ 17 “เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน” พวกเขาต่างมองว่า หุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกจะทำให้เกิดการปฏิบัตินโยบายที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ต่างชาติจะจับตามองอยู่  โดยเฉพาะในด้านสิทธิมนุษยชน

ที่สุดแล้ว ทุกคน ทุกเพศ ต้องจับมือไปสู่เป้าหมายการพัฒนาร่วมกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง.