ภายหลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำโดย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีฯ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ได้นำกำลังคณะพนักงานสอบสวน กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน เจ้าหน้าที่กองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กองปฏิบัติการพิเศษ พร้อมด้วยชุดปฏิบัติการ ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว เดินทางไปยังท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ เพื่อควบคุมตัวนายชนินทร์ เย็นสุดใจ ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาที่ 2145/2566 ลงวันที่ 5 ก.ค. 66 ก่อนนำตัวไปยังอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อทำการสอบปากคำและแจ้งข้อกล่าวหา ก่อนควบคุมตัวไว้ภายใน 48 ชม. ที่ห้องคุมขังผู้ต้องหา ชั้น 6 และเตรียมนำตัวส่งฟ้องต่อพนักงานอัยการคดีพิเศษในวันจันทร์ที่ 24 มิ.ย. เวลา 13.30 น. เพื่ออัยการส่งฟ้องต่อศาลอาญาตามขั้นตอน นั้น

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผอ.กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน เปิดเผยว่า สำหรับวานนี้ (23 มิ.ย.) พนักงานสอบสวนได้มีการสอบปากคำนายชนินทร์ (ผู้ต้องหา) ไปทั้งสิ้น 2 ชม. โดยเสร็จสิ้นกระบวนการในช่วงบ่าย จากนั้นเป็นการพูดคุยสอบถามและติดตามความคืบหน้าของคดีในส่วนของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ส่วนประเด็นที่ใช้ในการสอบปากคำ ส่วนใหญ่เป็นไปตามที่สำนักงานคณะกรรมกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เคยกล่าวโทษบุคคลทั้ง 10 ราย ซึ่งมีทั้งบุคคลและนิติบุคคล ตามที่ปรากฏข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ว่าบุคคลทั้งหมดได้ร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จ ทำบัญชีไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบัน หรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง เป็นต้น

ดังนั้น ก.ล.ต. กล่าวโทษอย่างไร ดีเอสไอก็ใช้ในการแจ้งข้อกล่าวหาตามพฤติการณ์นั้น ๆ แต่โดยรวมแล้วจะอยู่ในมูลฐานความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชนฯ ข้อหายักยอกทรัพย์และข้อหาฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งนายชนินทร์ก็ได้มีการแก้ข้อกล่าวหาด้วยวาจาและนำเอกสารประกอบแสดงชี้แจงในบางประเด็น ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวทางทนายความของผู้ต้องหาเคยมีการมอบให้พนักงานสอบสวนมาก่อนแล้ว ในช่วงที่ตัวผู้ต้องหาไม่ได้อยู่ในราชอาณาจักร โดยเป็นการยื่นเอกสารผ่านทนายความ เราจึงรับฟังแต่ยังไม่นำใส่สำนวน ทั้งนี้ ในส่วนประเด็นใดที่นายชนินทร์ไม่ประสงค์แก้ข้อกล่าวหา ก็ได้แจ้งว่าจะขอไปให้การในชั้นศาลเท่านั้น อาทิ ความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหารายอื่น ๆ

เมื่อถามว่านายชนินทร์ ได้มีการให้ปากคำเกี่ยวกับบุคลากรรายอื่น ๆ ภายในโครงสร้างกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท สตาร์คฯ หรือบรรดาลูกน้องบ้างหรือไม่ พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ เผยว่า ผู้ต้องหายังไม่ได้มีการกล่าวถึงกรรมการบริษัทมากนัก แต่ให้การเพียงแค่ว่าตนเองเป็นผู้บริหารจริง แต่ไม่ใช่ผู้บริหารสูงสุดขององค์กร เพราะตนเองและนายวนรัชต์ ก็มีสถานะเป็นกรรมการบริษัท ถือว่ามีอำนาจเท่ากัน

ต่อข้อถามว่ากรณีที่ทนายเรืองศักดิ์ สุขเสียงศรี ทนายความของนายชนินทร์ ได้ระบุว่า การสั่งฟ้องที่เกิดขึ้นกับลูกความตนเอง ยังไม่เป็นธรรม เพราะยังมีบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งเรื่องเส้นทางการเงิน และการบริหารจัดการในบริษัท สตาร์คฯ แต่ไม่ถูกสั่งฟ้องนั้น ใช่กรณีของนายชินวัฒน์ อัศวโภคี หรือไม่ เนื่องจากเป็นผู้ต้องหาที่อัยการสั่งไม่ฟ้องเพราะพยานหลักฐานไปไม่ถึง พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ ชี้แจงว่า ทนายความไม่ได้มีการระบุชื่อออกมาว่าหมายถึงใคร แต่ยืนยันว่าในชั้นการสอบสวนของดีเอสไอ เราได้ดำเนินการเต็มที่แล้ว ทั้งการรวบรวมพยานหลักฐาน พยานเอกสาร และการสอบปากคำพยานต่าง ๆ ส่วนกรณีที่อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ก็ถือเป็นดุลพินิจของอัยการ

ส่วนประเด็นที่ดีเอสไอจะดำเนินการขยายผลไปยังเรื่องการฟอกเงินของบรรดาผู้ต้องหาในคดีหุ้นสตาร์คนั้น พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ เผยว่า ทางพนักงานสอบสวนได้มีการรับเป็นอีกหนึ่งคดีพิเศษ โดยเป็นการสืบสวนสอบสวนเรื่องฟอกเงินทางคดีอาญา จะเป็นการขยายผลไปในเรื่องความเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันว่าบุคคลใดมีการรับโอนเงินจากกลุ่มผู้ต้องหาคดีสตาร์ค อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนว่าเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดในคดีนี้ ได้มีการโอนเงินหรือผ่องถ่ายไปที่ใครโดยที่บุคคลนั้นยังไม่ถูกดีเอสไอดำเนินคดีหรือไม่ หากพบว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้อง ก็จะถูกดำเนินคดีข้อหาฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และเมื่อเสร็จสิ้นก็จะดำเนินการส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการคดีพิเศษ

“ส่วนกลุ่มเป้าหมายกลุ่มแรกที่ดีเอสไอเล็งเห็นว่าอาจมีการข้องเกี่ยวในเรื่องเงินที่มาจากการกระทำความผิดในคดีหุ้นสตาร์คนั้น เราจะไปดูในส่วนของบุคคลใกล้ชิด มีความสนิทสนมกับบรรดาผู้ต้องหาทั้ง 11 ราย เพื่อดูว่าแต่ละรายได้มีการจำหน่าย จ่ายโอน ทรัพย์สิน หรือผ่องถ่ายเงินไปยังที่ไปยังทางใดหรือไม่” พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ ระบุ

พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ อธิบายถึงสาเหตุที่สำนวนการฟอกเงินคดีใหม่นี้จะไม่ถูกส่งไปยัง ปปง. ว่า เนื่องจากคดีการฟอกเงินจะมีอยู่ด้วยกันสองส่วน คือ 1.ส่วนแรก ปปง. จะดำเนินการในเรื่องของการยึดทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดในคดี โดยการยึดทรัพย์ของ ปปง. เพื่อสำหรับศาลแพ่งมีคำสั่งเฉลี่ยคืนผู้เสียหายในคดี และ 2.ส่วนของดีเอสไอ จะดำเนินการเฉพาะในส่วนของบุคคลที่รับเงินโอนเงินกับกลุ่มผู้ต้องหา ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรืออ้อมกี่ทอดก็ตาม เนื่องจากไม่ได้มีหนี้สินเกี่ยวพันกันจริง แต่มีเจตนาการฟอกเงินที่ได้จากการกระทำความผิด ซึ่งจะเป็นโทษคดีอาญา มีอัตราโทษจำคุก จะไม่เกี่ยวกับทาง ปปง. ที่ทำในเรื่องคดีแพ่ง

พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ ปิดท้ายว่า ในกรณีที่มีรายงานว่านายชนินทร์ ได้มีการโยกเงินกว่า 8,000 ล้านบาทไปซุกซ่อนอยู่ที่อังกฤษนั้น ในเรื่องดังกล่าวดีเอสไออยู่ระหว่างการตรวจสอบและจะประสานข้อมูลกับสำนักงาน ปปง. พร้อมย้ำชัดว่า ปปง. ทำคดีทางแพ่ง ส่วนดีเอสไอทำคดีทางอาญา ทั้งนี้ ในเวลา 13.30 น. พนักงานสอบสวนเตรียมนำตัวนายชนินทร์ ออกจากห้องคุมขังชั้น 6 อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปส่งฟ้องต่อพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการคดีพิเศษ ถนนรัชดาภิเษก ตามขั้นตอนต่อไป.