จุดเริ่มต้นจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยื่นร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลต่อ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทั่งวันที่ 20 มิ.ย. 2566 ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษที่ 57/2566 โดย พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีดีเอสไอ ในขณะนั้น แต่งตั้งให้ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีดีเอสไอ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนโดยมีกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน นำโดย พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผอ.กองคดีการเงินฯ รับผิดชอบดคี

จากการรวบรวมพยานหลักฐาน นำไปสู่การออกหมายเรียกพยานเข้าให้ปากคำ กระทั่งพบว่ามีกลุ่มระดับอดีตผู้บริหารสตาร์คฯ บางส่วนมีพฤติการณ์ร่วมกันตกแต่งบัญชีงบการเงินบริษัทและมีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงเป็นเหตุให้ออกหมายเรียกผู้ต้องหา 11 ราย มีทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เข้ารับทราบข้อหา หลังมีมูลเชื่อได้ว่ามีการกระทำผิดของกรรมการ หรือผู้บริหาร หรือบุคคลอื่นใดเกิดขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุน และระบบเศรษฐกิจการคลังของประเทศ

คดีมหากาพย์โกงหุ้นสตาร์ค ถือเป็นคดีใหญ่สั่นสะเทือนวงการตลาดทุนไทย และทำให้สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยเมื่อปี 2566 อกสั่นขวัญผวา เพราะสตาร์คฯ เป็นบริษัทที่เคยมีมูลค่าสูงสุดถึงระดับ 60,000 ล้านบาท ทั้งยังเคยถูกจัดให้อยู่ในดัชนี SET100 หรือ บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทย 100 อันดับแรก เป็นเหตุให้มีผู้ซื้อหุ้นกู้ ผู้ถือหุ้นกู้ และนักลงทุน ต่างกระโดดเข้าไปทำธุรกรรมจำนวนหลายพันคน เงินสะพัดหลักหมื่นล้านโดยมั่นใจว่าจะได้รับการชำระคืน อีกทั้งในปีแรกหลังจากเข้าตลาดหุ้น สตาร์คฯ สร้างผลกำไรทางธุรกิจจนเป็นที่จับตาและดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่และกองทุนทั้งในและต่างประเทศ แต่หลังจากนั้นปรากฏว่าสตาร์คฯ เข้าสู่วิกฤติการณ์ทุจริตมโหฬาร นั่นคือการตกแต่งงบการเงิน ตัวเลขผลประกอบการ โดยมีการตรวจพบความผิดปกติในทางบัญชี จนเป็นเหตุให้ตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย SP หรือ ระงับการซื้อขายหุ้นชั่วคราวเป็นเวลา 3 เดือน

ต่อมาเดือน เม.ย. 2566 ผู้บริหารสตาร์คฯ ชุดเดิมเริ่มส่งสัญญาณลางร้ายทยอยลาออก อาทิ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ ประธานกรรมการบริษัท พร้อมกรรมการคนอื่นๆ รวม 7 ราย พร้อมแจ้งเปลี่ยนแปลงรายชื่อประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน (Chief Financial Officer: CFO) และผู้ควบคุมดูแลการทำบัญชี ขณะที่งบการเงินที่จำเป็นต้องส่งตามกำหนด ก็ถูกเลื่อนมาเป็นครั้งที่ 3 และสิ้นสุดการส่งงบวันสุดท้ายในวันที่ 16 มิ.ย. 2566

ในส่วนการดำเนินคดีอาญา หลังรับเป็นคดีพิเศษพบมีผู้เสียหายทั้งสิ้น 4,704 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 14,778 ล้านบาท คดีมีการสอบพยานบุคคลไป 157 ปาก สามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้ 11 ราย ในจำนวนนี้เป็น บุคคลธรรมดา 6 ราย และนิติบุคคลอีก 5 ราย ประกอบด้วย 1.นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ 2.นายชินวัฒน์ อัศวโภคี 3.นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ 4.นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม 5.บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 6.บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด 7.บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด 8.บริษัท ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 9.บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด 10.น.ส.ยสบวร อำมฤต และ 11.นายชนินทร์ เย็นสุดใจ

ในความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชน รวมถึงความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยวันที่ 8 ธ.ค. 2566 พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนและมีมติเอกฉันท์สั่งฟ้องทั้ง 11 ราย ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการคดีพิเศษ เป็นเอกสาร 22 ลัง 140 แฟ้ม 52,968 แผ่น ซึ่งต่อมาในชั้นพนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลครบทั้ง 11 ราย ประกอบด้วย

1.นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ 2.บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยนายอรรถพล วัชระไพโรจน์ และนายปริญญา จั่นสัญจัย กรรมการผู้มีอำนาจ 3.บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด โดยนายอรรถพล วัชระไพโรจน์ กรรมการผู้มีอำนาจ 4.บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด โดยนายอภิชาติ ตั้งเอกจิต กรรมการผู้มีอำนาจ 5.บริษัท ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยนายอรรถพล วัชระไพโรจน์ กรรมการผู้มีอำนาจ

6.บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด โดยนายกิจจา คล้ายวิมุติ และนายอภิชาติ ตั้งเอกจิต กรรมการผู้มีอำนาจ 7.น.ส.นาตยา ปราบเพชร 8.น.ส.ยสบวร อำมฤต 9.นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐ 10.นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ และ 11.นายชนินทร์ เย็นสุดใจ ทั้งนี้ ในส่วนนายชินวัฒน์ อัศวโภคี หนึ่งในผู้ต้องหาที่ดีเอสไอมีความเห็นสั่งฟ้อง แต่พนักงานอัยการเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่ถึง

ตามการพิเคราะห์ของศาลเนื่องจากเล็งเห็นความหนักเบาของข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ที่มีอัตราโทษสูง สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นมูลค่าจำนวนมาก หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี ดังนั้น จนถึงปัจจุบันทั้งหมดจึงยังอยู่ในการคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง

สำหรับนายชนินทร์ ถือเป็นผู้ต้องหารายสุดท้ายที่เพิ่งได้ตัวกลับมาส่งฟ้อง หลังหลบหนีกบดานต่างประเทศนาน 8 เดือน สุดท้ายโดยความร่วมมือของรัฐบาล นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประสานทางการสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ให้ส่งตัวกลับ ก่อนนำมาสู่บทสรุปช่วงเช้าของวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ดีเอสไอได้ตัวนายชนินทร์ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 2145/2566 ลงวันที่ 5 ก.ค. 2566 กลับมาดำเนินคดีตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยแจ้งข้อหาพร้อมสอบปากคำ ก่อนนำตัวส่งพนักงานอัยการเพื่อส่งฟ้องต่อศาล ซึ่งคดีดังกล่าวศาลมีนัดตรวจสำนวนและพยานหลักฐานวันที่ 14 ม.ค. 2568