ที่ ห้องประชุมปัญจเพชร ชั้น 3 อาคารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ รองศาสตราจารย์ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ รองเลขาธิการ ศอ.บต. แถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และแถลงการขับเคลื่อนนโยบายการดำเนินงานปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ภายใต้ “สร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและการเยียวยาพี่น้องประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้น พร้อมทั้งนำชายแดนใต้สู่สันติสุขอย่างยั่งยืน”

รศ.ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ศอ.บต. ได้ดำเนินการแก้ปัญหาการว่างงานให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาว่างงานที่เกิดขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโร่น่า( COVID-19) มีกลุ่มแรงงานไทยเดินทางกลับจากประเทศมาเลเซียมากกว่า 30,000 คน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีงานรองรับในพื้นที่ ศอ.บต. ได้ดำเนินการช่วยเหลือตามความต้องการของกลุ่มแรงงานด้วยการกระจายแรงงานไปทำงานนอกพื้นที่จังหวัด เช่น สงขลา เพชรบุรี กาญจนบุรี กรุงเทพมหานคร ระยอง รวมกว่า 2,300 คนพร้อมทั้งดึงแรงงานเข้าสู่การส่งเสริมอาชีพฐานรากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 2,500 ราย ทั้งการปลูกพืชพลังงาน และการเลี้ยงปูทะเล พร้อมกันนี้ ศอ.บต. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ องค์นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา องค์ประธานกรรมการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ทรงพระกรุณาพระราชทานอนุญาตให้จัดตั้ง โรงครัวพระราชทาน ณศอ.บต.เพื่อประกอบอาหารช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในพื้นที่ จ.ยะลาเนื่องจากการประกาศพื้นที่เพื่อเป็นพื้นที่ควบคุมเข้มงวด ตั้งแต่วันที่ 1-7 กรกฎาคม 2564 ในพื้นที่ 4 อำเภอของจ.ยะลา ประกอบด้วย อ.เบตง อ.บันนังสตา อ.กาบัง และ อ.ยะหา รวมทั้งสิ้น 100,380 กล่อง และขณะเดียวกันศอ.บต. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรโดยการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรที่ไม่สามารถระบายออกสู่ตลาดได้จนทำให้ผลผลิตตกค้างเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ฟักทอง ฟักเขียว เป็นต้น โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.สงขลา ที่มีพื้นที่ปลูกกว่า 6,000 ไร่ มีผลผลิตกว่า 3,000 ตัน/ปี

รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวถึงงานด้านพัฒนาการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้าน ชุมชนและตำบลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยว่า ศอ.บต.ได้ขับเคลื่อนผ่านการพิจารณาของสภาสันติสุขตำบล ที่มีคณะทำงานจากหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และภาคประชาชน ร่วมกันพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของประชาชนบนพื้นฐานการแก้ไขปัญหาจำเป็นเร่งด่วนในด้านเศรษฐกิจด้านสังคมและด้านทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีการดำเนินโครงการ ฯ ด้านเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 400 กลุ่ม ด้านสังคม 50 กิจกรรม และด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 18 กิจกรรม ในพื้นที่ 282 ตำบลของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้างคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ มีจิตอาสาทำความดีด้วยหัวใจ พัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต และเสริมสร้างสุขภาวะ ศอ.บต. ได้ขับเคลื่อนผ่านโครงการสนับสนุนวิทยากรผู้สอนภาษาไทยในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ทำการจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 ตามโครงการเสริมการพัฒนาการศึกษาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งแต่ปี 2560 – จนถึงปัจจุบัน โดยนำกระบวนการจัดการเรียนการสอน เทคนิคต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนสามารถอ่านออก เขียนได้ อาทิ การจัดทำสื่อการเรียนการสอนให้ดึงดูดและมีความน่าสนใจ การใช้เพลงประกอบจังหวะโดยนำพยัญชนะ และสระ เข้ามาสอดแทรกในบทเพลง เป็นต้น