ดูเหมือนการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ของภาครัฐให้หมดไปคงไม่ง่ายอย่างที่คิด ถึงแม้ว่าจะมีการบูรณาการในการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ!?!

ไม่ว่าจะเป็นการปราบปราม “ซิมผี-บัญชีม้า” การสกัดลอบใช้สัญญาณมือถือและอินเทอร์เน็ต บริเวณแนวชายแดน ของ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” เพื่อใช้หลอกลวงคนไทย เพื่อไม่ให้มีสัญญาณของ “ค่ายมือถือ” ส่งสัญญาณข้ามแดนเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีฐานของแก๊งมิฉาชีพเหล่านี้

เมื่อโดนตัดตอนในเรื่องสัญญาณมือถือและอินเทอร์เน็ต ทางมิจฉาชีพเหล่านี้ ก็ “หัวหมอ” หันมาใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านระบบดาวเทียมวงโคจรต่ำ  (Low Earth Orbit -LEO) หรือ ลีโอ  แทน

โดยที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย บก.ปอศ. เปิดปฏิบัติการเข้าตรวจยึดอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ต ของ STARLINK ซึ่งเป็นอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านระบบดาวเทียมลีโอ ที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และ กสทช.ไม่อนุญาตให้มีการนำเข้ามาในราชอาณาจักร จำนวน 58 ชุด

ประเสริฐ จันทรรวงทอง

“ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รมว.ดีอี บอกว่า  อุปกรณ์ที่ตรวจยึดได้จากร้านรับ-ส่งพัสดุ ใน อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี โดยระบุที่อยู่ปลายทาง ใน อ.แม่สอด และ อ.แม่ระมาด จ.ตาก ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นของขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และกลุ่มเครือข่ายพนันออนไลน์ ที่ลอบนำเข้าไทยจากชายแดนประเทศกัมพูชา  เพื่อส่งออกไปยังชายแดนประเทศเมียนมา เพื่อเตรียมนำมาใช้ในการก่ออาชญากรรมทางออนไลน์

โดยอุปกรณ์ทั้งหมดถือเป็นสินค้าที่ลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย โดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 โดยจากนี้ ทางกระทรวงดีอีจะมีการหารือกับทาง กสทช. เพื่อหามาตรการในการป้องกันอุปกรณ์เหล่านี้ต่อไป

“กลุ่มมิจฉาชีพ เริ่มมีการปรับรูปแบบการก่ออาชญากรรมทางออนไลน์ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ และปราบปราม ทำให้กระทรวงดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องปรับรูปแบบตาม ซึ่งจะเร่งหารือกับ กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องดาวเทียมลีโอ ไม่ให้นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการก่ออาชญากรรมออนไลน์ต่อไป”  นายประเสริฐ ระบุ

สำหรับ ดาวเทียมวงโคจรต่ำ  มีให้บริการในต่างประเทศมานานแล้ว โดยเจ้าใหญ่ๆ  ก็มีอยู่  3-4 ราย ที่ดังก็คือ  STARLINK ของ บริษัท SpaceX จากอเมริกา ที่มี “อีลอน มัสก์”  มหาเศรษฐี ชื่อดังเป็นเจ้าของ อีกรายก็คือ  OneWeb จากประเทศอังกฤษ เป็นต้น  

ซึ่งการที่ “โจรออนไลน์-แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ปรับวิธีมาใช้ช่องทางสื่อสารอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม เนื่องจากที่ผ่านมา หน่วยงานด้านความมั่นคง และสำนักงาน กสทช.ได้รวมกันกวดขัน เรื่องเสาสัญญาณมือถือ และอินเทอร์เน็ตบริเวณชายแดน ไม่ให้แพร่ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มิจฉาชีพพยายามจะหาวิธี นำอุปกรณ์ไฮเทคเข้ามาใช้งานแทน ไม่ต้องใช้สัญญาณจากฝั่งไทย!!

แล้วการทำงานอินเทอร์เน็ตจากดาวเทียมวงโคจรต่ำ เป็นอย่างไรนั้น ทาง “พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์”  กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที อธิบายว่า  การทำงานของอุปกรณ์ครื่องนี้ จะรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตโดยตรงจากดาวเทียมลีโอ โดยราคาอุปกรณ์ที่ขายในต่างประเทศอยู่ที่ ประมาณ 20,000-50,000 บาท และต้องซื้อแพ็กเกจเป็นรายเดือน ซึ่งการให้บริการลักษณะนี้มีผู้ให้บริการหลายเจ้า โดยในประเทศไทยมีเพียง วันเว็บ (OneWeb) ที่เพิ่งได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. แต่ยังไม่ได้เริ่มให้บริการแต่อย่างใด

“การตรวจจับสัญญาณอินเทอร์เน็ตดาวเทียมวงโคจรต่ำว่านำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมออนไลน์หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ตรวจจับได้ยาก เมื่อเทียบกับการใช้สัญญาณโทรศัพท์มือถือ จึงจำเป็นต้องมีสถานีเกตเวย์ในประเทศไทย จึงจะสามารถตรวจจับได้ โดยหากตรวจสอบพบว่านำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมายก็สามารถตัดสัญญาณจากสถานีเกตเวย์ ที่ตั้งอยู่ในประเทศได้ทันที จึงเป็นที่มาของกฎหมายที่ กสทช.ได้ กำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำในไทย ต้องมีสถานีเกตเวย์ในประเทศไทยด้วย เพื่อให้สามารถควบคุมดูแลได้”  พ.อ.สรรพชัยย์ ระบุ

ขณะเดียวกัน หน่วยงานกำกับในเรื่องนี้ อย่างสำนักงาน กสทช.  นั้น ทาง “ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล”  รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. ยอมรับว่า การป้องกันในเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจาก ดาวเทียมลีโอ นั้น สามารถให้บริการครอบคลุมได้หลายประเทศ แม้ในประเทศนั้นๆ จะไม่มีสถานีเกตเวย์ เพียงมีจานดาวเทียมในการรับสัญญาณ ก็สามารถใช้บริการได้ โดยสมัครแพ็กเกจผ่านเว็บไซต์ ทำให้มิจฉาชีพเห็นช่องทางดังกล่าว ในการใช้สื่อสารหลอกลวง แทนการใช้ระบบสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่ง กสทช.ได้ดำเนินการปราบปรามสถานีเถื่อนตามชายแดนอย่างต่อเนื่อง 

ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล

“การเข้ามาให้บริการดาวเทียม LEO ตามประกาศของ กสทช. ผู้ให้บริการต้องเข้ามาตั้งสถานีเกตเวย์ ในประเทศไทย เผื่อให้รัฐสามารถควบคุมดูแลได้ ในกรณีของ  Starlink เท่าที่ทราบมา ต้องการลงทุนเอง 100% ไม่ต้องการร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทย  แต่ไม่สามารถทำได้ตามกฎหมายไทย จึงถือเป็นอุปกรณ์ที่ผิดกฎหมายอยู่ ต่างจากผู้ประกอบการอีกราย คือ วันเว็บ ที่เพิ่งได้ใบอนุญาตจาก กสทช. และมีการตั้งสถานีฐานกับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที) ที่ จ.อุบลราชธานี  โดย STARLINK มีสถานีเกตเวย์ใกล้ไทย ก็ตั้งอยู่ที่ มาเลเซีย  สิ่งที่ทำได้คือ ต้องมีการหารือเร่งทำงานร่วมกับ กรมศุลกากร  อย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อกวดขันจับกุมอุปกรณ์ที่ลอบนำเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ขณะที่หากมีการนำมาใช้บริเวณชายแดน ก็ต้องประสานกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรัฐบาลก็มีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่บริเวณชายแดน ก็พบว่า มีเสาสัญญาณเถื่อน และ เสาสัญญาณของค่ายมือถือ ที่ส่งสัญญาณเล็ดลอดออกไปประเทศเพื่อนบ้าน ได้สั่งการให้แก้ไขในทุกพื้นที่ นอกจากนี้ ยังสั่งให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม รายงานการใช้งาน (Traffic) อินเทอร์เน็ต บริเวณชายแดนเพื่อนบ้านที่มีกาสิโนตั้งอยู่ มาที่สำนักงาน กสทช.ในทุก 3 วัน เพื่อตรวจดูว่ามีการใช้งานมากผิดปกติหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2024 ซึ่งอาจมีการใช้ในการเล่นพนันบอลออนไลน์ได้

เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น “โจรออนไลน์ แก็งคอลเซ็นเตอร์” ถูกตัดตอนเครื่องมือทำมาหากิน แล้วหันมาใช้วีธีการที่ไฮเทคมากขึ้น ทำให้ภาครัฐต้องตามเกมให้ทัน ไม่เช่นนั้นการแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ก็ไร้ผล คนไทยต้องเดือดร้อนกันต่อไป!?!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์