เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทีมวิจัยเรื่องผมจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษได้เผยแพร่ผลการวิจัยซึ่งอาจช่วยให้การคิดค้นตัวยารักษาอาการผมร่วงขึ้นมาได้ในอนาคต

ทีมวิจัยได้ค้นพบ “กลไกทางชีวภาพ” ที่ทำให้ผมบาง โดยค้นพบความเชื่อมโยงดังกล่าวขณะทดสอบประสิทธิภาพของตัวยาช่วยเพิ่มขนาดรูขุมขนบนหนังศีรษะมนุษย์

พวกเขาพบว่า การกระตุ้นกลไกที่เรียกว่า ปฏิกิริยาการตอบสนองต่อความเครียดแบบผสมผสาน (Integrated Stress Response : ISR) มากเกินไป จะส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม 

ปฏิกิริยาตอบสนองนี้บ่งชี้ว่าเซลล์จะหยุดการทำงานตามปกติไว้ชั่วคราวเมื่อร่างกายเผชิญกับสภาวะตึงเครียด และบางส่วนจะหยุดนิ่งเพื่อช่วยบรรเทาความเครียด

ตัวอย่างเช่น เซลล์รูขุมขนที่เริ่มมีความเครียดเมื่อเราอายุมากขึ้น ส่งผลให้เส้นผมมีการเติบโตช้าลง อย่างไรก็ตาม หากมีการกระตุ้น IRS มากเกินไปก็อาจทำให้เซลล์ตายได้ ไม่ใช่เพียงทำให้เซลล์เติบโตช้าลง

ดังนั้นการหาวิธีหยุดยั้งปฏิกิริยา ISR ไม่ให้มีมากเกินไปอาจเป็นหนทางในการป้องกันผมร่วงได้

ดร.ทาลวีน ปูร์บา ผู้เขียนอาวุโสของการศึกษาวิจัยและทีมงานในแมนเชสเตอร์กำลังศึกษาปฏิกิริยา ISR ในผู้ที่มีปัญหาผมร่วงเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบที่เกิดจาก IRS ต่อรูขุมขนได้ดียิ่งขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดคือการพัฒนายาที่สามารถป้องกันผมร่วงได้

ดร. ปูร์บากล่าวว่าในปัจจุบันยังไม่มียาที่ควบคุมปฏิกิริยา ISR ได้โดยตรง แต่ก็มียาบางตัวที่อยู่ระหว่างการสืบหาและตรวจสอบในบริบทอื่น

ในปี 2022 ทีมนักวิจัยชาวญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการปลูกรากผมให้โตเต็มที่ในห้องแล็บ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าอีกประการหนึ่งในการต่อสู้กับปัญหาผมร่วง

เมื่อเข้าสู่วัยกลางคน ผู้ชายประมาณ 85% จะได้รับผลกระทบจากผมร่วง ขณะที่ผู้หญิงราว 50% จะพบปัญหาเรื่องผมร่วมเมื่ออายุล่วงเข้า 70 ​​ปี 

แม้จะมีอัตราที่น่าตกใจเหล่านี้ แต่ก็มีทางเลือกในการรักษาเพียงไม่กี่ทาง เช่น ตัวยาไมน็อกซิดิลที่ใช้รักษาเฉพาะที่, ฟีนาสเตอไรด์ ซึ่งเป็นยารักษาผมร่วงตามใบสั่งแพทย์ 

แต่ยาเหล่านี้ก็มีผลข้างเคียงที่น่ากังวล ซึ่งรวมถึงภาวะซึมเศร้า ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ การสูญเสียสมรรถภาพทางเพศ และกระตุ้นความคิดอยากฆ่าตัวตาย

นอกจากการใช้ยาแล้ว ปัจจุบันผู้ที่มีปัญหาผมร่วงสามารถเลือกใช้การรักษาด้วยเลเซอร์หรือการผ่าตัดปลูกถ่ายเส้นผม และการบำบัดเฉพาะที่

ที่มา : ladbible.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES