การดูนกนอกจากเป็นกิจกรรมคุณภาพให้ความสุขใจ เพลิดเพลิน การสังเกต เฝ้าคอยชมยังเชื่อมการเรียนรู้ธรรมชาติ สร้างความตระหนักและเข้าใจธรรมชาติ ได้เห็นความงามรอบตัวและความเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ชวนสำรวจธรรมชาติ ชวนรู้จัก“นกในเมือง” ฟังเสียงขับขาน สนทนา เสียงสะท้อนจากธรรมชาติ โดย นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ นายสัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยและนวัตกรรมทางสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ให้ความรู้ว่า จากที่มีการศึกษาชนิดนกที่พบในเขตกรุงเทพฯ นับแต่ครั้งอดีตจวบปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีนกอย่างน้อย 350 ชนิด โดยแบ่งออกเป็น นกประจำถิ่นนกอพยพตามฤดูกาล โดยนกอพยพตามฤดูกาล แบ่งย่อยออกไป  ซึ่งอพยพมาทำรังวางไข่ อพยพผ่านมาแล้วก็บินกลับไป

“นกในเมืองเป็นนกที่ปรับตัวเข้ากับสังคมเมืองโดยสมบูรณ์ อย่างเช่นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่นี่มีนกหลากหลายชนิดปรับตัวอยู่ร่วมกับคนในเมือง อย่างเช่น อีกา นกกระจอก นกปรอดสวน นกปรอดหน้านวล นกกางเขนบ้าน นกสีชมพูสวน ฯลฯ นกเหล่านี้ปรับตัวอยู่กับเราโดยสมบูรณ์ ขณะเดียวกันนกเหล่านี้เติมเต็มทำให้เมืองมีชีวิตชีวา การดูนกให้ความนุ่มนวลแก่จิตใจ

นกจาบคาเล็ก

ในเมืองใหญ่ในแต่ละภูมิภาคมีนกที่เป็นเอกลักษณ์ อย่างเช่น ภาคใต้ จังหวัดภูเก็ต พังงา มี นกเอี้ยงดำปักษ์ใต้ ฯลฯ ทั้งนี้เมืองใหญ่ของไทยยังคงมีนกอาศัยอยู่ร่วมกับคน แต่จะมากน้อย หรือมีความแตกต่างของชนิดก็แล้วแต่ภูมิภาค

นายสัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยและนวัตกรรมทางสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณหมอเกษตรกล่าวอีกว่า การที่มีนกอยู่ในธรรมชาติ มีนกอาศัยอยู่ในพื้นที่ มีนกอาศัยอยู่คู่กับเรา นอกจากบอกเล่าความสมบูรณ์ของธรรมชาติ ยังบอกถึงเศรษฐกิจ สังคม และคงต้องยอมรับ PM 2.5 ที่มาตามฤดูกาลส่งผลกระทบต่อนกในธรรมชาติ โดยนกเป็นส่วนหนึ่งที่จะคอยเตือน ทั้งนี้จากประสบการณ์การรักษานกในธรรมชาติ ใน 1 ปีมีนกนับร้อยตัวป่วย อาจด้วยสาเหตุมากมาย แต่ส่วนหนึ่งมาจากการป่วยจากมลพิษทางอากาศ

นกกระจอกใหญ่ ตัวผู้

การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โลกร้อนอุณหภูมิเพิ่มก็มีผลกระทบ โดยจากจำนวนชนิดนกในกรุงเทพฯประมาณ 350 ชนิดที่พบเป็นประจำมีประมาณครึ่งเดียว และแนวโน้มจากที่พบเป็นประจำ แม้ไม่ลดจำนวนชนิด แต่ลดจำนวนตัว ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากภาวะโลกร้อน และไม่รวมถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของนกเปลี่ยนไป

“การศึกษาการเปลี่ยนแปลงของประชากรนกจะดูจากแหล่งทำรังวางไข่ แหล่งหากิน ภัยคุกคาม โดยแหล่งทำรังวางไข่ในกรุงเทพฯ แน่นอนว่าต้องลดลง เพราะมีการก่อสร้าง การพัฒนาต่าง ๆ ในเรื่องของแหล่งหากินอาจจะลดหรือไม่ลดก็ได้ แต่มีแนวโน้มลดลง โดยนกบางตัว อาจต้องบินออกไปหากินไกล ๆ

นกกางเขนบ้าน ตัวผู้

ส่วนปัจจัยคุกคาม ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางนํ้า มลพิษทางอากาศ การล่าก็เป็นเรื่องจริง จำนวนนก 350 ชนิดในกรุงเทพฯ คงไม่เป็นอย่างนั้นไปตลอดกาล ต้องลดลงอย่างแน่นอน และนอกจากการลดลง ยังมีการเปลี่ยนชนิดด้วย เช่น นกกระจอกบ้าน แต่เดิมมีจำนวนมากนับร้อยนับพัน แต่ผ่านมาในช่วง 50 ปี นกกระจอกบ้านแทบไม่เหลืออยู่ กลับมี นกกระจอกใหญ่ เข้ามาแทนที่นกกระจอกบ้าน”

นอกจากนี้จะเห็นถึงการเปลี่ยนชนิด การเพิ่มจำนวน และลดจำนวนลง อย่างเช่น สมัยก่อนแม่นํ้าเจ้าพระยาบริเวณโรงพยาบาลศิริราช สะพานปิ่นเกล้า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ช่วงฤดูหนาวจะมี นกนางนวล มาให้ชม ผ่านไป 50 ปีก็ไม่มีอีกแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง ธรรมชาติเปลี่ยนไปซึ่งก็เป็นสาเหตุให้นกไม่สามารถอาศัยอยู่ได้

นกแต้วแล้วธรรมดา

“นก นอกจากให้ความสดใส สามารถพบเห็นได้บ่อย โดยสร้างความชื่นตาชื่นใจ ยังเชื่อมการเรียนรู้ธรรมชาติ โดยในพื้นที่สวนสาธารณะถ้าสังเกตจะมีนกที่มีสีสันสวย อย่างเช่น นกตะขาบทุ่ง นกขมิ้นท้ายทอยดำ นกพญาไฟเล็ก นกเปล้าคอสีม่วง นกตีทอง โดยนกตีทองจะมีเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นนกที่ได้รับฉายาว่าเป็น ราชินีนกเมือง เพราะมีความสวยงาม หรือแม้กระทั่งนกฮูก ที่อาจไม่คาดคิดว่าจะมีในกรุงเทพฯ ก็มี อย่างเช่น นกเค้าจุด สามารถพบเห็นได้ แต่คงต้องรู้ตำแหน่งจึงจะได้เห็น”

การเฝ้าชมนก การดูนก ถือเป็นรางวัลให้กับคนช่างสังเกต ทั้งยังเป็นการเปิดใจร่วมดูแลรักษาธรรมชาติ และสำหรับนกใกล้ตัว นกในเมืองที่มีโอกาสเห็นได้บ่อยครั้ง นายสัตวแพทย์เกษตรแนะนำอีกว่า นอกจากนกกระจอก ไม่ว่าจะเป็นกระจอกบ้าน นกกระจอกใหญ่ ยังมี นกกางเขนบ้าน นกกาเหว่า นกกระแตแต้แว้ด นกอีวาบตั๊กแตน ซึ่งก็เป็นนกอีกชนิดที่มีเสียงร้องเป็นเอกลักษณ์ โดยหลายคนอาจเคยได้ยินเสียง แต่ไม่เคยเห็นตัว

นกยางเปีย

นกเอี้ยงหงอน นกเอี้ยงสาลิกา นกปากห่าง นกสีชมพูสวน นกกินปลีอกเหลือง ฯลฯ ก็พบได้ทั่วไปในเมืองและยังไม่นับรวมถึงนกที่พบเห็นได้ระหว่างทาง อย่างเช่น นกยางเปีย นกแอ่นตาล หรือช่วงฤดูหนาว จะได้เห็น นกแอ่นบ้าน บินโฉบเฉี่ยวปรากฏให้ชม

ส่วนช่วงฤดูฝนเวลานี้ก็มีนกสวย ๆ อีกหลายชนิด เป็นช่วงเวลาที่นกประจำถิ่นจะทำรังวางไข่ ช่วงนี้จึงได้เห็นนกหลายชนิดเพิ่มขึ้น อย่างเช่น นกขมิ้นน้อยธรรมดา นกพญาไฟเล็ก นกกิ้งโครงคอดำ ฯลฯ ทั้งเป็นช่วงทำรังวางไข่ของ นกอีวาบตั๊กแตน นกกาเหว่า และ ยังไม่นับรวมนกที่อพยพมาทำรังวางไข่ในช่วงฤดูฝนอีก อย่างเช่น นกแอ่นทุ่งใหญ่ นกแต้วแล้วธรรมดา นกแต้วแล้วอกเขียว ฯลฯ ทั้งนี้ไม่เฉพาะนกในกรุงเทพฯ เมืองใหญ่ในภูมิภาคต่าง ๆ ช่วงฤดูฝนก็จะเป็นเช่นนี้ เป็นที่ครึกครื้น เป็นอีกจังหวะดีในการเฝ้าชมนกเช่นกัน ทั้งได้เห็นลูกนก แม่นกเลี้ยงลูก เป็นอีกความน่ารักที่น่าประทับใจ

จากที่กล่าวการดูนกช่วยสร้างความเพลิดเพลิน เติมเต็มชีวิตได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ โดยเฉพาะสังคมสูงอายุปัจจุบัน การดูนก ถ่ายรูปนก การพบปะพูดคุยกันเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ส่งผลดีต่อกายและใจ อีกทั้งนกในเมืองยังสร้างความนุ่มนวลให้กับเมือง เติมสีสันให้เมืองมีชีวิตชีวา น่าอยู่อาศัย

“การดูนกดูได้ตลอดทั้งปี จากที่กล่าวนกในเมืองเป็นนกที่ปรับตัวแล้ว ยินยอมให้เราได้เข้าใกล้ อีกทั้งกรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะหลายสถานที่ เป็นพื้นที่ให้เลือกดูนก หรือแม้แต่ที่อยู่อาศัยของเรา บ้านที่มีพื้นที่ปลูกไม้ผลก็มีโอกาสพบเห็นนกใกล้ ๆ อย่างเช่น ถ้าปลูกต้นกล้วยจะมีนกปรอด นกเอี้ยงมาให้ชม หรือถ้าเป็นผู้ที่ดูนกมาระยะเวลาหนึ่ง การเดินทางของนกบางชนิดยังบ่งบอกฤดูกาล

นกบางชนิดถ้าปรากฏให้เห็นสามารถใช้ชนิดนกบอกฤดูกาลได้ อย่างเช่น นกนางแอ่นบ้าน บอกการมาถึงของฤดูหนาว เป็นอีกส่วนหนึ่งได้เรียนรู้สังเกตธรรมชาติรอบตัว โดยมีนกเป็นสื่อ เพื่อร่วมกันดูแลรักษาธรรมชาติให้สมบูรณ์และสมดุล สร้างเมืองที่มีชีวิตชีวาเป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัย.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ

ขอบคุณภาพ : นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ