เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ห้องประชุมเหลืองอินเดียใหญ่ (Luangindia Auditorium) ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก อ.เมืองนครนายก จ.นครนายก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีปิดและมอบปัญญาบัตร การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ : จิตอาสา นปส. หลักสูตรผู้นำการขับเคลื่อนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สำหรับหลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) รุ่นที่ 82 โดยมี รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย อาจารย์คณิต ธนูธรรมเจริญ ที่ปรึกษาอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ร้อยตรี สรมงคล มงคละสิริ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้เข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร นปส. 82 จำนวน 101 คน ร่วมพิธี

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้สำเร็จการฝึกอบรมหลักสูตรผู้นำการขับเคลื่อนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นปส. 82 ซึ่งทุกท่านเป็น “ผู้นำ” ที่กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างค่านิยมเพื่อเตือนจิตเตือนใจบ่มเพาะตนเองในการเป็น “จิตอาสา” ซึ่งด้วยการน้อมนำพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นแน่วแน่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทำให้ประชาชนคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ข้าราชบริพารในพระองค์เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งการที่พระองค์ทรงรื้อฟื้นคำว่า “จิตอาสา” เพื่อ “แก้ไขในสิ่งผิด” ฟื้นฟูวิถีชีวิตในสังคมการให้และการแบ่งปันที่ดีงามของคนไทยในอดีต ได้หวนกลับคืนมาสู่สังคมไทยในปัจจุบัน เพราะทุกวันนี้ คนไทยเราจะใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ประเพณีการจัดงานศพ ในอดีตบ้านเรือนของญาติมิตร ของเพื่อนบ้าน ของคนในชุมชน จะมารวมตัวกันเพื่อทำโรงครัว ทำอาหารไว้รับรองแขกผู้มาร่วมงานบำเพ็ญกุศล แต่ในปัจจุบันถูกเปลี่ยนเป็นการจ้างแม่ครัว คิดเป็นรายหัวบ้าง รายเหมาบ้าง ในลักษณะเชิงธุรกิจ ส่งผลให้ในชุมชนไม่มีปฏิสัมพันธ์ ไม่เกิดความร่วมไม้ร่วมมือกัน ไม่ได้สนิทชิดเชื้อรักใคร่เฉกเช่นวิถีชีวิตของบรรพบุรุษแต่เก่าก่อน ซึ่งวิถีชีวิตที่ดีงามของคนไทยในอดีตมีนัยสำคัญสอดคล้องกับคำว่า “จิตอาสา” ซึ่งเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม และเป็นการดำรงตน สร้างคนดี ทำสิ่งที่ดี แก้ไขในสิ่งผิด เพื่อพัฒนาสังคมประชาชน และประเทศชาติให้เกิดความยั่งยืน มีความสุขได้

“นปส. 82 ทุกคนคือผู้เป็นความหวังของประเทศชาติ เพราะท่านคือ “ผู้บริหารระดับสูง” ที่มีภาระความรับผิดชอบในหน้าที่การงานที่สูงขึ้น หลักสูตร “จิตอาสา นปส.” จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ทุกท่านได้มีโอกาสมาใช้ชีวิตร่วมกันร่วมพูดคุย และร่วมคิดใคร่ครวญหาทางออกจากวิกฤติของประเทศและวิกฤติของโลก ให้ทุกท่านได้เห็นว่า “คน” มีความสำคัญต่อความอยู่รอดของประเทศชาติ ต้องมีการพัฒนาคนที่พึงประสงค์ เพื่อค้ำจุนสังคมไทยให้อยู่รอดได้ เริ่มตั้งแต่ ต้องมีความเมตตากรุณา รู้จักให้ รู้จักแบ่งปัน สังคมก็จะมีความสุข และเป็นสังคมที่มีสายใยความรัก ความสามัคคีเกิดขึ้น ผู้คนยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรมคำสอนของศาสนา ดังศาสนาพุทธที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนสั่งไว้ว่า “กัลยาณะการี กัลยาณัง” แปลเป็นภาษาไทยว่า “ทำดีได้ดี” ถือเป็นหัวใจที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ โดยนักปกครองระดับสูงทุกท่านจะต้องยึดถือปฏิบัติ เพราะเราต้องรับผิดชอบต่อผู้ใต้บังคับบัญชา อันเปรียบเป็นทิศเบื้องล่างที่เราต้องช่วยดูแล สนับสนุน ผลักดัน ให้เขาได้ทำสิ่งที่ดี ช่วยกันประคับประคองให้คนในสังคมมีทัศนคติ (Attitude) ที่ดี ควบคู่กับทิศเบื้องบน คือผู้บังคับบัญชา ที่เราจะต้องนำเสนอสิ่งที่ดีที่เราอยากทำ หรือผู้ใต้บังคับบัญชาเราคิดดีและเราเห็นดีด้วย เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงได้พิจารณาอนุมัติ หรือสั่งการให้สิ่งที่ดีที่คิดนั้นได้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ควบคู่กับการร่วมกันขับเคลื่อนงานไปกับหมู่มิตรที่อยู่ในทิศเบื้องซ้าย เบื้องขวา เบื้องหน้าและเบื้องหลัง” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า คำว่า “จิตอาสา” ถือเป็นปฐมบทที่สำคัญของข้าราชการทุกคน ที่เราทุกคนที่เป็นผู้นำต้องเป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” ด้วยการฝัง DNA ของการเป็นจิตอาสาไว้ในสายโลหิตของพวกเรา และทำตนเป็นตัวอย่างปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต เพื่อเป็นต้นแบบถ่ายทอดสิ่งดีๆส่งต่อให้น้อง ๆ ข้าราชการได้ซึมซับและยึดถือปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต ไม่สักแต่ทำงานหรือปฏิบัติหน้าที่ราชการเพียงเฉพาะแค่งานที่ถูกกำหนดในกฎหมาย งานตามหน้าที่ หรือแค่ใน job discription ซ้ำร้าย ข้าราชการบางคนอาจทำงานในหน้าที่ไม่ครบถ้วนด้วย จนกลายเป็นสิ่งที่บั่นทอนความผาสุกของประชาชน บั่นทอนความมั่นคงของชาติ ดังนั้น “คนที่สำคัญที่สุด คือ คนที่มีจิตใจในการเป็นจิตอาสา” และต้องเป็นจิตอาสาที่ไม่ใช่การแสดง แต่ต้องมีนิสัยเป็นจิตอาสาเป็นปรกติ มีพื้นเพเป็นจิตอาสา มีวัฒนธรรมเป็นจิตอาสา เป็นวัตรปฏิบัติในวิถีการดำรงชีวิต ซึ่งจริง ๆ แล้ว จิตอาสามันอยู่ในจิตใต้สำนึกของพวกเราคนไทยทุกคน เพียงแค่อาจจะหลงลืมจนเคยชิน การที่จะนำกลับมาได้ เราต้องฝึกฝนด้วยการฝึกจิตให้แน่วแน่ ให้เข้าใจ และฝึกปฏิบัติโดยไม่เขินอาย ดังเช่น เมื่อเราเห็นขยะตกบนพื้นก็ก้มลงเก็บโดยไม่เขินอาย เพราะมันเป็นการทำความดี และยังเป็นการส่งต่อความดีงามไปยังคนรอบข้างอีกด้วย เช่นเดียวกัน เราต้องอย่าเพียงแค่นำขอบเขตหรือชื่อตำแหน่งที่ถูกขีดเขียนมาเป็นบริบทของการทำงาน แต่ต้อง “เอาทุกข์สุขความเดือดร้อนประชาชน” มาเป็นเป้าหมายการทำงาน

“หากกล่าวโดยสรุป หน้าที่สำคัญของ “จิตอาสา นปส.” จะต้องช่วยกันขยายความคิดในการ Change for Good เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีงามต่อสังคมไทยให้มากที่สุด เพราะงานหนักไม่เคยฆ่าใคร ความเหนื่อยยากไม่เคยทำให้ใครตาย ด้วยการเป็นผู้นำต้องทำก่อน เป็นผู้นำที่ทำแล้วต้องถ่ายทอดส่งต่อสิ่งที่ดี สร้างอุดมการณ์ สร้างหลักการทำงานของการเป็นข้าราชการผู้อุทิศทุ่มเททำงานเพื่อพี่น้องประชาชน ที่มิใช่เพียงแค่งานที่กรอบกฎหมายกำหนด ใช้ทุกเวลา ทุกนาที ทุกโอกาส ตั้งแต่ตื่นนอนกระทั่งนอนหลับ ก็สามารถเป็นจิตอาสาได้ทั้งหมด เพราะจิตอาสาทำได้ทุกที่ ทุกเวลา เฉกเช่น รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ (อ.หน่า) และผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล (อ.โก้) ผู้ที่มีหน้าที่หลักตามกฎหมายกำหนด คือ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ในเวลาที่เหลือ นอกเหนือจากการทำงานในหน้าที่ ทั้ง 2 ท่านก็อุทิศทุ่มเทตนในฐานะ “จิตอาสา” โดยไม่รับผลตอบแทนใด ๆ รับแต่เพียงแค่คำว่า “ความสุขใจที่ได้ทำ” ซึ่งพวกเราทุกคนสามารถนำวิธีคิด วิธีปฏิบัติตนของอาจารย์ทั้ง 2 ท่าน ที่สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานแบบภาคีเครือข่าย หรือ “บวร” ทำให้สิ่งที่ดีกลายเป็นแม่เหล็กทำให้เวลาที่เท่ากัน เกิดคุณค่าของงานที่มากขึ้น เพราะไม่มีใครมีเวลามากกว่าหรือน้อยกว่า “เรามีเวลาเท่ากัน” จึงต้องใช้ทุกเวลานาที ทำให้เวลาที่เท่ากันนี้ เกิดสิ่งที่ดีงามให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้ นปส. 82 ทุกคน รักษาความดีที่มีอยู่ให้ประดุจเกลือรักษาความเค็ม น้อมนำพระราชปณิธานดังพระราชดำรัส “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพราะพี่น้องประชาชนและประเทศชาติรอท่านอยู่ เราจึงต้องใช้ทุกโอกาสของชีวิต มุ่งมั่น Change for Good ทั้งเรื่องส่วนตัวและส่วนรวม ทำหน้าที่ทั้งตามอำนาจหน้าที่ และทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองที่ดีของโลก และพสกนิกรที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการทำทันที (Action Now!) เพราะไม่ว่าจะมีคำว่า จะทำดี กี่ร้อยล้านคำ แต่ถ้าไม่ทำ ก็ไร้ประโยชน์ เราต้องช่วยกันทำสิ่งที่ดี เพื่อในวันข้างหน้าเราจะได้มีแต่ความภาคภูมิใจที่ทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” อย่างยั่งยืน