เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้รายงานกรณีช่างภาพถ่ายภาพนกยูงอินเดียและนกยูงพันธุ์ผสม ได้ที่บริเวณหอดูสัตว์โป่งช้างเผือก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นการรายงานต่อเนื่องตามที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้รายงานว่า พบนกยูงอินเดียสีขาวและนกยูงที่คาดว่าเป็นลูกผสม หากินปะปนร่วมกับฝูงนกยูงไทยประมาณ 10 ตัว บริเวณหอดูสัตว์โป่งช้างเผือก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นั้น

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ขอเรียนว่า ได้ดำเนินการดังนี้ 1. ประสานขอข้อมูลและแนวทางการค้นหาและดำเนินการจากนายสัตวแพทย์สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และผู้เชี่ยวชาญด้านนกยูงไทย 2. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ได้ประกาศปิดการท่องเที่ยวบริเวณหอดูสัตว์โป่งช้างเผือก เพื่อจัดเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการค้นหา 3. ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการป่าไม้และสัตว์ป่าจำนวน 4 คน เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนหน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่าจำนวน 5 คน และเจ้าหน้าที่จุดสกัดที่ 006 โป่งช้างเผือกจำนวน 2 คน รวมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจำนวน 11 คน ดำเนินการค้นหานกยูงดังกล่าว โดยการสังเกตการณ์บนหอดูสัตว์โป่งช้างเผือก

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงาน เจ้าหน้าที่ได้สำรวจพบนกยูงทั้ง 2 ตัว เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. โดยนกยูงทั้ง 2 ตัว ได้เดินหากินปะปนกับนกยูงไทยประมาณ 10 ตัว มาตามลำห้วยทับเสลา และหากินอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง จึงเดินข้ามลำห้วยทับเสลาเข้าไปในป่าด้านตรงข้าม จากการสังเกตเจ้าหน้าที่รายงานว่า นกยูงอินเดียตัวสีขาวนั้น มีการเดินที่ไม่แข็งแรง หยุดพักบ่อย โดยมีนกยูงที่คาดว่าเป็นลูกผสมเดินอยู่ใกล้เคียง

นายอรรถพล กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงาน เจ้าหน้าที่ได้พักค้างที่หอดูสัตว์เพื่อซุ่มรอสังเกตการณ์ในช่วงเช้าและบ่ายของวันที่ 22 มิ.ย. นี้ เพื่อดูเส้นทางที่นกยูงทั้ง 2 ตัว ใช้เดินหากิน เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนการปฏิบัติงานอีกครั้ง ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าบริเวณใกล้แนวเขตรักษาพันธุ์ฯ ห้วยขาแข้ง มีวัดป่าแห่งหนึ่งที่เลี้ยงนกยูงอินเดีย โดยอยู่ห่างจากหอดูสัตว์โป่งช้างเผือก 15 กม. โดยในส่วนของนกยูงที่เป็นลูกผสม ได้ตั้งกล้องดักถ่ายภาพติดตามมาเป็นระยะเวลา 3 เดือนแล้ว แต่เมื่อประมาณเดือน เม.ย. ตรวจไม่พบนกยูงตัวดังกล่าว จนกระทั่งช่างภาพภ่ายภาพคู่กับนกยูงสีขาวได้ ซึ่งทางกรมอุทยานฯ จะเร่งดำเนินการจับออกให้หมด.