สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงวินด์ฮุก ประเทศนามิเบีย เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ว่า ศาลสูงนามิเบียประกาศยกเลิกกฎหมาย 2 ฉบับ ที่ใช้มาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม ซึ่งกำหนดให้กิจกรรมทางเพศระหว่างผู้ชายขัดต่อรัฐธรรมนูญ ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญสำหรับชุมชนแอลจีบีทีคิวในประเทศ

นายฟรีเดล เดาซับ นักเคลื่อนไหวชาวนามิเบีย เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาล ร่วมกับการสนับสนุนจากองค์กรฮิวแมน ดิกนิตี ทรัสต์ ซึ่งมีฐานอยู่ในอังกฤษ

หลังทราบคำตัดสิน เดาซับ กล่าวว่า เขา “มีความสุข” และ “มันเป็นวันที่ดีสำหรับนามิเบีย” พร้อมกล่าวว่า “ความรักจะไม่ใช่เรื่องผิดอีกต่อไป” อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากไอแอลจีเอ องค์กรระหว่างประเทศที่สนับสนุนสิทธิแอลจีบีทีคิว ระบุว่า กิจกรรมทางเพศของเพศเดียวกันถือเป็นสิ่งต้องห้ามมากกว่าครึ่งหนึ่งของ 54 ประเทศแอฟริกา

“ชัยชนะครั้งนี้ ยังเป็นพลังที่จะช่วยส่งเสริมความพยายามในการยกเลิกกฎหมายเอาผิดกิจกรรมทางเพศระหว่างเกย์ในประเทศอื่น ๆ ทั่วแอฟริกา” เธีย เบราน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฮิวแมน ดิกนิตี ทรัสต์ กล่าว

แม้การลงโทษโดยกฎหมายว่าด้วย “การร่วมเพศระหว่างคนเพศเดียวกัน” และ “กิจกรรมทางเพศที่ผิดธรรมชาติ” จะเกิดขึ้นได้ยากในนามิเบีย แต่ชาวแอลจีบีทีคิว ยังคงถูกเลือกปฏิบัติ และส่งผลให้กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ใช้ชีวิตอยู่ด้วยความกลัวว่าจะถูกจับกุม อย่างไรก็ตาม นายจอห์น นาคูตา ศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยนามิเบีย เสริมว่า รัฐบาลสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลได้ภายใน 21 วัน

นามิเบียสืบทอดกฎหมายฉบับนี้ หลังได้รับเอกราชจากแอฟริกาใต้เมื่อปี 2533 แม้การกระทำระหว่างเพศเดียวกันระหว่างผู้ชาย จะถือเป็นอาชญากรภายใต้การปกครองอาณานิคมก็ตาม

นับตั้งแต่นั้นมา แอฟริกาใต้ได้ยกเลิกกฎหมายที่กำหนดให้กิจกรรมทางเพศของคนเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรม และเป็นประเทศเดียวในทวีปแอฟริกา ที่อนุญาตให้คู่รักแอลจีบีทีคิวสามารถรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม, แต่งงาน และจดทะเบียนคู่ชีวิต ตรงกันข้ามกับยูกันดา ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว ที่ตรากฎหมายต่อต้านกลุ่มแอลจีบีทีคิว มีเนื้อหารุนแรงที่สุดฉบับหนึ่งของโลก โดยรวมไปถึงการกำหนดโทษประหารชีวิตสำหรับ “ผู้รักร่วมเพศ” แม้ถูกประณามอย่างกว้างขวางจากชาติตะวันตกก็ตาม

ด้านผู้สนับสนุนแอลจีบีทีคิวชาวนามิเบีย รวมตัวกันด้านนอกของศาล พร้อมป้ายที่มีข้อความว่า “เอากฎหมายออกไปจากชีวิตรักของฉัน” และ “สันติภาพ, ความรัก, ความสามัคคี” พร้อมกล่าวกับรอยเตอร์ว่า “พวกเขามีความสุขมาก”

โอมาร์ ฟาน เรเนน ผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการสิทธิความเสมอภาคนามิเบีย ยินดีกับคำตัดสินของศาล และกล่าวว่า ในที่สุดชุมชนแอลจีบีทีคิว ก็ได้รู้สึกถึงการเป็นพลเมืองที่เท่าเทียมกันในที่สุด “คำตัดสินของศาลในวันนี้สื่อว่า เรามีสิทธิเป็นเจ้าของและอาศัยอยู่ในประเทศนี้ทุกประการ และรัฐธรรมนูญปกป้องเรา” ฟาน เรเนน กล่าวทิ้งท้าย.

เครดิตภาพ : AFP